กทพ.แจงรถม็อบฝ่าด่านขึ้นทางด่วนแล้วไม่จ่ายเงินช่วง ม.ค.-มี.ค. รวมทุกประเภทมีกว่า 2 หมื่นคัน สูญรายได้เกือบ 5 แสนบาท ระบุรถจักรยานยนต์ขึ้นทางด่วนผิดกฎหมาย ยันต้องฟ้องดำเนินคดีเพราะมีประชาชนร้องเรียน ที่สำคัญเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง พร้อมแจงข้อมูลคลาดเคลื่อน เหตุแจ้งไว้ที่ ศรส.ซึ่งรับไว้เป็นคดีกรณีพิเศษไม่ใช่ดีเอสไอ
นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ กทพ.ดำเนินคดีต่อขบวนรถของผู้ชุมนุมที่ขึ้นใช้ทางพิเศษโดยไม่ชำระค่าผ่านทางรวมถึงนำรถที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้ทางพิเศษขึ้นทางพิเศษหลายครั้ง ตั้งแต่ช่วง Shut Down Bangkok เดือนมกราคมจนถึงเดือนมีนาคม 2557 ว่า เมื่อมีขบวนรถผู้ชุมนุมขึ้นใช้ทางพิเศษโดยไม่ชำระค่าผ่านทางรวมถึงนำรถที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้ทางพิเศษ อาทิ รถจักรยานยนต์ขึ้นใช้ทางพิเศษนั้น กทพ.ต้องดำเนินการตามกฎหมาย และขั้นตอนระเบียบวิธีปฏิบัติ โดยได้มีการบันทึกภาพการฝ่าฝืนและกระทำผิดด้วยกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) และภาพนิ่งในมุมต่างๆ แล้ว จึงรวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เกิดเหตุเพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิด
ทั้งนี้ กทพ.ได้รวบรวมจำนวนรถที่ขึ้นใช้ทางพิเศษโดยไม่จ่ายค่าผ่านทาง เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม-31 มีนาคม รวม 3 เดือนมีจักรยานยนต์ฝ่าด่านจำนวน 10,657 คัน รถยนต์สี่ล้อจำนวน 11,343 คัน และมากกว่าสี่ล้อ จำนวน 1,046 คัน คิดเป็นค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 4.9 แสนบาท โดยในเดือนมกราคมมีรถฝ่าด่านเป็นจักรยานยนต์จำนวน 3,388 คัน รถยนต์สี่ล้อจำนวน 672 คัน รถมากกว่าสี่ล้อจำนวน 77 คัน คิดเป็นค่าเสียหาย 20,000 บาท
เดือนกุมภาพันธ์มีรถจักรยานยนต์ฝ่าด่านจำนวน 4,605 คัน รถยนต์สี่ล้อจำนวน 6,980 คัน รถมากกว่าสี่ล้อจำนวน 437 คัน คิดเป็นค่าเสียหาย 280,000 บาท เดือนมีนาคม มีรถจักรยานยนต์ฝ่าด่านจำนวน 2,664 คัน รถยนต์สี่ล้อจำนวน 3,691 คัน รถมากกว่าสี่ล้อจำนวน 532 คัน คิดเป็นค่าเสียหาย 170,000 บาท
โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนไม่ชำระค่าผ่านทางพิเศษ และการนำรถจักรยานยนต์รวมถึงรถประเภทต้องห้ามมิให้ใช้ในทางพิเศษมาใช้บนทางพิเศษ เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการจราจรในทางพิเศษ พ.ศ. 2555 ข้อ 4 และมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 154 ซึ่งกำหนดโทษปรับไว้ไม่เกิน 1,000 บาท พระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มาตรา 31, 40, 62 และ 63 ที่กำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 8,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การกระทำดังกล่าวนอกจากเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและกฎหมายแล้วยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้บริการทางพิเศษ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา กทพ.ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อทางศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ซึ่งทาง ศรส.ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีกรณีพิเศษเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน โดยได้ขอชี้แจงข้อมูลก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า กทพ.ได้ยื่นฟ้องต่อดีเอสไอไปเป็นความคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร จึงขออภัยมา ณ ที่นี้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ กทพ.จำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะมีประชาชนผู้ใช้ทางด่วนร้องเรียนกรณีที่มีขบวนรถขึ้นใช้ทางด่วน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย อีกทั้งยังเป็นการฝ่าด่านไม่จ่ายค่าผ่านทาง แต่ประชาชนทั่วไปที่ขึ้นใช้ทางด่วนและจ่ายค่าผ่านทางได้รับผลกระทบ หากไม่ดำเนินการใดๆ กทพ.อาจถูกฟ้องร้องว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าผ่านทางดังกล่าวแทน ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากและไม่ควรปล่อยให้เจ้าหน้าที่ต้องมารับผิดชอบ ทั้งนี้ไม่ได้ห้ามกลุ่มผู้ชุมนุมใช้ทางด่วน แต่ถ้าขึ้นใช้ก็ต้องจ่ายค่าผ่านทางตามปกติ