สำรวจแรงงานไทยรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 1.5 หมื่นบาท พบมีหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 1.06 แสนบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ เหตุรายได้ไม่พอรายจ่าย หรือต้องจ่ายหนี้เฉลี่ยเดือนละกว่า 6 พันบาท สูงสุดในรอบ 6 ปี ส่วนวันแรงงานปีนี้คาดเงินสะพัดแค่ 1.9 พันล้าน โตต่ำสุดในรอบ 6 ปีเช่นกัน หลังเศรษฐกิจชะลอตัว การเมืองป่วน จับตาการเมืองลากยาว โอกาสตกงานทะลุ 6 แสนคน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยกรณีมีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท จากการสำรวจประชาชน 1,200 ราย ระหว่างวันที่ 17-21 เม.ย. 2557 ว่า ปัจจุบันแรงงานไทยจำนวนมากถึง 93.7% มีหนี้ โดยมีหนี้ต่อครัวเรือนอยู่ที่ 1.06 แสนบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ 56.1% และเป็นหนี้ในระบบ 43.9% ซึ่งมีภาระที่ต้องจ่ายหนี้นอกระบบเฉลี่ยเดือนละ 6,639 บาท แยกเป็นหนี้นอกระบบ 7,412 บาทต่อเดือน ในระบบ 5,456 บาทต่อเดือน ถือเป็นยอดหนี้ที่จะต้องจ่ายสูงสุดจากที่เคยสำรวจมาในรอบ 6 ปี นับจากปี 2552 สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานไทยต้องแบกรับภาระหนี้มากกว่ารายได้ที่แท้จริง
“ขณะนี้ปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย และปัญหาหนี้สินกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของแรงงานไทย และได้ขยับขึ้นมาเป็นปัญหาอันดับแรก เพราะส่วนใหญ่มีปัญหาจากราคาสินค้าแพงขึ้น รายได้ลดลง ดอกเบี้ยสูงขึ้น และน้ำมันแพงขึ้น ที่สำคัญ แรงงานไทยกว่า 90% ไม่มีอาชีพเสริมเพื่อหารายได้พิเศษ และส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ไม่ตรงเวลา เป็นปัญหาที่น่าวิตก” นายธนวรรธน์กล่าว
นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับวันหยุดแรงงาน 1 พ.ค. 2557 คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายรวม 1,965 ล้านบาท ขยายตัว 2.3% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี นับจากที่ทำการสำรวจตั้งแต่ปี 2552 เพราะแรงงานวิตกในเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว ของแพง และปัญหาการเมือง รวมทั้งยังเห็นว่าโอกาสในการหางานใหม่ยากขึ้น ไม่มีใครคิดจะเปลี่ยนงาน ทั้งๆ ที่ค่าแรงปัจจุบันไม่เพียงพอต่อรายจ่าย โดยเห็นว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนควรจะเป็นวันละ 388 บาท ไม่ใช่ 300 บาท และควรปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 498 บาท ในอีก 3 ปีข้างหน้า และวันละ 579 บาทในอีก 5 ปีข้างหน้า
ส่วนผลการสำรวจภาคธุรกิจพบว่าจะยังไม่มีการจ้างแรงงานใหม่ และไม่ถึงขั้นปรับลดแรงงานลง แต่หากการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพและเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นอาจจำเป็นต้องลดแรงงานลงในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ หลังจากที่ธุรกิจได้ทำการลดเวลาทำงานและเงินรายได้พิเศษลงแล้ว ซึ่งวิตกว่าหากเกิดปัญหาขึ้นจริงก็จะทำให้อัตราว่างงานมีโอกาสเพิ่มขึ้น 1.5-1.7% ของแรงงานทั้งหมด หรือประมาณ 6 แสนคน มากสุดในรอบ 10 ปี จากเดิมที่คาดว่าจะมีการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.7% หรือ 4 แสนคน บนพื้นฐานเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 0-2% ซึ่งหากการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพก็จะกระทบต่อภาคธุรกิจ และกระทบต่อแรงงานในอนาคตที่อาจจะตกงานมากขึ้น
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะมีการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% เพราะจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจให้แย่ลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปีนี้เข้าขั้นวิกฤต อาจติดลบได้ จากภาวะการใช้จ่าย การลงทุน ท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง และไม่เห็นว่าการปรับเพิ่ม VAT จะไปช่วยเสริมการจัดเก็บงบประมาณที่ลดลงได้ เพราะขณะนี้การใช้จ่ายงบประมาณจากการเป็นรัฐบาลรักษาการยังไม่ได้สูง ไม่จำเป็นต้องเร่งหาเงินเพิ่มแต่อย่างใด
“ควรขยายเวลาทบทวนการปรับเพิ่ม VAT ออกไปอีก 1-2 ปี และเชื่อว่ารัฐบาลใหม่ก็คงต้องตรึงการเพิ่ม VAT ออกไปเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง และภาวะเงินเฟ้อจะยังสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากผลกระทบราคาน้ำมันเพิ่ม ค่าใช้ไฟฟ้าเพิ่มจากภาวะอากาศร้อน และราคาสินค้าที่ขยับเพิ่มขึ้น จึงไม่ควรมีอะไรที่จะเพิ่มภาระภาคธุรกิจและประชาชนอีก ถ้าทำเช่นนั้นจะเป็นการช็อกเศรษฐกิจทำให้ขยายติดลบได้” นายธนวรรธน์กล่าว