xs
xsm
sm
md
lg

WTO บังคับใช้ความตกลงการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐแล้ว แนะไทยยึดเป็นแนวปฏิบัติ ป้องกันคอร์รัปชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เผยความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐฉบับปรับปรุงของ WTO มีผลบังคับใช้แล้วหลังรอมานานกว่า 2 ปี เผยได้ปรับขั้นตอนและวิธีการให้มีความยืดหยุ่นและทันสมัยมากขึ้น แนะไทยเตรียมพร้อม หลังคู่เจรจา FTA จะยึดเป็นมาตรฐานในการเจรจา ทั้งอียู EFTA และ TPP เชื่อหากนำแนวทางมาปฏิบัติช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันลงได้แน่

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่าประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐฉบับปรับปรุง (Revised GPA) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ได้มีผลบังคับใช้แล้ว หลงจากที่รอกันมากว่า 2 ปีนับตั้งแต่สมาชิกความตกลงได้มีมติรับรองผลการเจรจาปรับปรุงเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2554 และรัฐมนตรี WTO ได้ประกาศให้มีการดำเนินการให้ความตกลงมีผลบังคับใช้โดยเร็วเมื่อการประชุมในเดือน ธ.ค. 2556 ที่บาหลี

ทั้งนี้ ความตกลงฉบับปรับปรุงมีเนื้อหาที่ยืดหยุ่น มีวิธีดำเนินการสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น เช่น กำหนดขอบเขตและหลักการครอบคลุมถึงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ และระยะเวลาในการดำเนินการจัดซื้อสินค้าและจัดจ้างบริการ ลดการฉ้อราษฎร์บังหลวงในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง และมีการกำหนดคุณสมบัติในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงแนวปฏิบัติให้โปร่งใส ทั้งการเผยแพร่ประกาศกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ขณะเดียวกัน ได้มีความยืดหยุ่นให้ประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด โดยให้ระยะเวลาในการปรับตัวสำหรับการเข้าร่วมเป็นสมาชิก หรือการบังคับใช้หลักการภายใต้ความตกลง GPA

“WTO คาดว่าภาคธุรกิจของภาคีสมาชิกความตกลง GPA จะได้รับประโยชน์จากโอกาสการเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของภาคีสมาชิกอื่นถึงกว่า 8 หมื่นถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นการเจาะเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างในระดับกระทรวง หน่วยงานท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ทั้งการจัดซื้อสินค้า และการจัดจ้างบริการด้านต่างๆ ที่มีขอบเขตขยายมากขึ้น”

นายสมเกียรติกล่าวว่า ปัจจุบันกระแสการต่อต้านการคอร์รัปชันในวงการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของหน่วยงานต่างๆ ของไทยมีอย่างกว้างขวาง ความตกลง GPA ภายใต้ WTO จึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดปัญหาคอร์รัปชันด้านนี้ลงได้ เนื่องด้วยเนื้อหาของ GPA จะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านความโปร่งใส ตั้งแต่การออกประกาศโครงการ การกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล หลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมประกวดราคา ตลอดจนผลการตัดสินให้ผู้เข้าร่วมชนะการประกวดราคา

นอกจากนี้ การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ในปัจจุบัน ประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการเจรจาเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นภาคีสมาชิก GPA ซึ่งมักจะใช้ความตกลง GPA ฉบับปรับปรุงเป็นฐานในการเจรจา และผลักดันให้ประเทศคู่เจรจายอมรับหลักการภายใต้ GPA มาปฏิบัติใช้ในความตกลง FTA ระหว่างกันด้วย ซึ่งล่าสุดไทยกำลังอยู่ระหว่างเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป (อียู) และกำลังจะเจรจากับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) และความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งล้วนแต่ให้ความสำคัญในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยจะเข้าเป็นสมาชิกสังเกตการณ์ความตกลง GPA ฉบับแก้ไข ซึ่งจะช่วยทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยรับทราบข้อเท็จจริง และเปิดโอกาสให้มีการศึกษาข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก GPA ในอนาคต

สำหรับความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐเป็นความตกลงที่ให้สมาชิกเข้าร่วมโดยสมัครใจ ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 15 ประเทศ ได้แก่ อาร์เมเนีย แคนาดา สหภาพยุโรป ฮ่องกง ไอซ์แลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลี ลิกเตนสไตน์ อารูบา นอร์เวย์ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ จีน และสหรัฐฯ ส่วนไทยยังไม่ได้เป็นภาคีในความตกลงดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น