“คมนาคม” เสนอของบปี 58 จำนวน 3 แสนล้าน ชดเชยไม่ได้กู้ 2 ล้านล้าน โยกระบบราง รถไฟฟ้า, รถไฟทางคู่ใช้งบประจำปี “ผอ.สนข.” เผยตั้ง รบ.ใหม่ช้ากระทบเป็นลูกโซ่ หวั่นงบประจำปีดีเลย์ไปด้วย ยอมรับต้องชะลอรถไฟความเร็วสูง หวั่นดันทันรับเดินหน้าพลอยกระทบโครงการอื่นไม่ได้เกิด แต่ไม่ล้มเตรียมเปิดเวทีให้ข้อมูลคนกรุงเทพฯ
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงการจัดทำงบประมาณปี 2558 ของกระทรวงคมนาคมว่า ได้เตรียมเสนอของบประมาณรวม 3 แสนล้านบาท จากปี 2557 ที่เสนอขอ 1.3 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการโยกโครงการสำคัญที่เคยบรรจุไว้ในแผนการใช้เงินตามพระราชบัญญัติการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท มาใช้งบประมาณปกติปี 2558 แทน จึงทำให้งบประมาณที่เสนอขอในปี 2558 มีวงเงินค่อนข้างสูง
โดยต้องขึ้นอยู่กับว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เมื่อใด เนื่องจากการจัดทำงบประมาณประจำปีตามปกติจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี โดยรัฐบาลต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของปีถัดไปต่อรัฐสภา แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าทำงานในเดือนพฤษภาคมนี้ หากเป็นจริงตามนั้น การใช้งบประมาณปี 2558 ก็จะล่าช้าออกไป
โดยโครงการที่โยกจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทมาบรรจุในงบประจำปี 2558 เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สายทาง คือ สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยต้องของบประมาณมาเพื่อเริ่มการเวนคืน สายสีส้มเฟสแรก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ซึ่ง 2 สายทางนี้ต้องเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติโครงการ พร้อมของบประมาณเวนคืน ซึ่งปี 2558 มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาสายสีเขียวและสีส้มเฟสแรกได้
นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง คือ 1. ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 2. สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 3. สายลพบุรี-ปากน้ำโพ 4. สายนครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน และ 5. สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 3 เส้นทาง คือ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา สายบางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี และสายชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้น ยืนยันว่ายังไม่มีการล้มเลิกโครงการ แม้อาจต้องชะลอออกไปจากกำหนดเดิม ซึ่งเบื้องต้น สนข.จะปรับกลยุทธ์ใหม่โดยให้ความรู้ความเข้าใจแก่คนกรุงเทพฯ มากขึ้น เพราะผู้ที่คัดค้านส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ ซึ่งการชะลอโครงการเพื่อไม่ให้เกิดประเด็นจนกระทบต่อโครงการอื่นๆ ที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเหมือนกัน โดยในปลายเดือนพฤษภาคมจะมีการจัดสัมมนาใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนและต้องการให้ข้อมูลแก่คนกรุงเทพฯ ที่ส่วนใหญ่คัดค้านเพราะค่อนข้างมีฐานะและใช้รถส่วนตัวเดินทางไปต่างจังหวัดไม่นิมยมนั่งรถไฟ จึงอาจไม่ทราบว่ารถไฟความเร็วสูงสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมาก และประเทศไทยไม่ได้พัฒนาได้เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้นส่วนที่อื่นไม่ต้องทำ