xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.นำร่องปรับลุค “ดอนเมือง-ภูเก็ต” เป็น “Airport City”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.
ทอท.เดินหน้าปรับลุค 6 สนามบินเป็น “Airport City” เพิ่มเทคโนโลยีปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการให้ทันสมัย ให้การบริการแบบ Lifestyle สะดวกรวดเร็วขึ้น คาดลงทุนเฟสแรก ดอนเมือง-ภูเก็ตนำร่องกว่า 1.5 หมื่นล้าน ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ Non Aero ส่วนผล Q2/57 ผู้โดยสารเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10% เหตุปัญหาการเมืองในประเทศไม่จบ “เมฆินทร์” เผยต้องปรับตัวให้ทัน เล็งลดค่าใช้จ่ายลง 5% เพื่อไม่ให้กระทบเป้าหมายรายได้และกำไรทั้งปี 57

นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของ ทอท.ว่า หลักในการบริหารของ ทอท.นอกเหนือจากการเร่งขยายขีดความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นให้เพียงพอแล้ว คือ การเน้นการบริการผู้โดยสารและสายการบินที่สะดวก รวดเร็วมากขึ้น โดยจะนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการ เช่น เช็กตั๋วอัตโนมัติ โหลดกระเป๋าอัตโนมัติ ระบบจัดเก็บค่าจอดรถอัตโนมัติ เป็นต้น ในขณะเดียวกันจะให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือ Airport City ซึ่งจะต้องมีการตอบสนองบริการแบบ Lifestyle Service ผู้โดยสารใน 3 กลุ่มหลักคือ ผู้โดยสารกลุ่มท่องเที่ยว, ผู้โดยสารกลุ่มเดินทางทั่วไป, ผู้โดยสารกลุ่มนักธุรกิจ โดยจะนำเสนอบริการรูปแบบ Retail Mall เพราะผู้โดยสารจะมีเวลาในพื้นที่ Retail Mall มากขึ้น

โดยทั้ง 6 สนามบินของ ทอท.จะมีรูปแบบ Airport City ที่แตกต่างกันไป อยู่ที่ขนาดพื้นที่ ลักษณะทางกายภาพและสภาพสิ่งแวดล้อมของแต่ละสนามบิน ซึ่งทุกสนามบินทั่วโลกมีทิศทางนี้เหมือนกัน ตามแผน ทอท.จะนำร่องที่สนามบินดอนเมืองและภูเก็ตก่อน โดยจะว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสนามบินและด้านพัฒนาที่ดินมาช่วยทำแผนและกำหนดรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม และสรุปแผนภายในเดือนกรกฎาคมนี้

สำหรับสนามบินดอนเมืองนั้น แนวคิดการพัฒนาเป็น Airport City จะสอดคล้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจะเชื่อมเข้าสู่พื้นที่สนามบิน 2 จุด คือ อาคารคลังสินค้า 1, 2, 3, 4, ลานจอดรถและอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่ง ทอท.จะปรับปรุงอาคารคลังสินค้าเป็นพื้นที่ Retail Mall คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนสนามบินภูเก็ตจะปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานจอดรถเก่า วงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาท

ทั้งนี้จะต้องรอสรุปผลการศีกษาก่อน ซึ่งวงเงินลงทุนอาจจะมากกว่านี้ก็ได้ ส่วนรูปแบบ เป็นไปได้สูงที่อาจจะต้องเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 โดยจะต้องเลือกรูปแบบที่ดีที่สุด

ซึ่งตามโรดแมปของ ทอท.เห็นว่า สนามบินดอนเมืองจะเป็นสนามบินนำร่องที่จะเห็นความชัดเจนของการเป็น Airport City ที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากการปรับปรุงในเฟส 2 งานซ่อมแซมอาคาร South Corridor งานซ่อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 5 ปรับปรุงอาคารจอดรถ 7 ชั้น วงเงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2557 นี้ รองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 18.5 ล้านคนเป็น 30 ล้านคนต่อปี โดยจะเริ่มเห็นการบริการที่ทันสมัย และอัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าในปี 2557 ดอนเมืองจะมีผู้โดยสารประมาณ 19-20 ล้านคน

หากการขยายขีดความสามารถของทุกสนามบินแล้วเสร็จจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกิจการการบิน (Aero) และกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non Aero) จาก 60:40 เป็น 50:50 และหากสามารถพัฒนาในเรื่อง Airport City ครบทั้ง 6 จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40:60 ได้

ปัจจุบันสนามบินฮ่องกง (เช็กแล็บก็อก) รวมถึงสนามบินสิงคโปร์ (ชางงี) มีสัดส่วนรายได้ Aero:Non Aero ที่ 50:50 มีเพียงสนามบินเกาหลีใต้ (อินชอน) ที่มีสัดส่วน 60:40 แล้ว

โดยสนามบินฮ่องกงมีกายภาพคล้ายสนามบินสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการเมื่อปี 2541 ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี งบประมาณก่อสร้าง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประสบปัญหาหลายเรื่องในช่วงเปิดบริการ 6 เดือนแรก ทั้งเรื่อง การบริหาร เทคนิค และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งในปี 2556 สนามบินฮ่องกงมีผู้โดยสารถึง 60 ล้านคน กว่า 100 สายการบิน รองรับเที่ยวบินได้ 64 เที่ยวบินต่อชั่วโมง มีปริมาณสินค้าถึง 4.12 ล้านตัน โดยมี 2 อาคารผู้โดยสาร, 2 ทางวิ่ง (รันเวย์), 86 หลุมจอดสำหรับเครื่องบินโดยสาร และ 41 หลุมจอดสำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้า, 377 เคาน์เตอร์เช็กอิน และสามารถขยายได้ถึง 433 เคาน์เตอร์

โดยฮ่องกงอยู่ระหว่างดำเนินแผนเพิ่มรันเวย์เส้นที่ 3 โดยการถมทะเลซึ่งผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว คาดเมื่อแล้วเสร็จจะรองรับเที่ยวบินเพิ่มเป็น 102 ลำต่อชั่วโมงในขณะเดียวกันจะมีโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมไปยังมาเก๊า แล้วเสร็จในปี 2559 โดยฮ่องกงคาดว่าในปี 2573 จะมีผู้โดยสารถึง 102 ล้านคน

นายเมฆินทร์กล่าวถึงภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 2/2557 (ม.ค.-มี.ค. 2557) ว่า มีการเติบโตของผู้โดยสารต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเติบโตที่อัตรา 10% แต่เติบโตเพียง 6.9% โดยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศเป็นหลัก แต่ ทอท.ยังไม่มีการปรับลดเป้าหมายรายได้และกำไรของปี 2557 เนื่องจากในไตรมาส 2 ถือเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (High Season) และคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 และ 4 สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ เพื่อให้รายได้และกำไรของปี 2557 เป็นไปตามเป้าหมาย จะต้องบริหารจัดการเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ปรับลดหรือชะลอค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนออกไปก่อนประมาณ 5% และในช่วงไตรมาส 3 และ 4 จะต้องบริหารติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อสามารถปรับตัวให้ทัน โดยยังมั่นใจว่าหากช่วงครึ่งปีหลังยังเป็น High Season ที่เป็นปกติ ภาพรวมของทั้งปีจะไม่มีผลกระทบใดๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น