ASTVผู้จัดการรายวัน- “ดิจิตอล คอนเทนต์” หมากสำคัญส่งดิจิตอลทีวีอยู่หรือไป โอกาสทองโปรดักชันเฮาส์ ตบเท้าจดทะเบียนบริษัทรับศึกดิจิตอลทีวีกว่า 1,000 บริษัท ฟาก “คอนเทนต์ โพรวายเดอร์” รายใหญ่เดินหน้าเพิ่มทุนสร้างคอนเทนต์เพิ่ม คาดเม็ดเงินดิจิตอลคอนเทนต์สะพัดไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ศึกประมูลดิจิตอลทีวีเพิ่งจะเคาะจบลงไปช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาด้วยมูลค่าการประมูลรวมทั้งหมดสูงถึง 50,862 ล้านบาท กับจำนวนช่องดิจิตอลทีวีที่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน 24 ช่องในระยะอันใกล้นี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่จะได้เห็นช่องรายการโทรทัศน์มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นว่าคอนเทนต์ที่จะเกิดขึ้นใหม่จะต้องมีเพิ่มขึ้นกว่า 24 เท่าตัวเช่นเดียวกัน
เมื่อศึกดิจิตอลทีวีจบลง ศึกหนักครั้งใหญ่ที่จะตามมาและมีแนวโน้มร้อนแรงไม่แพ้กันจึงหนีไม่พ้น “ศึกดิจิตอลลคอนเทนต์” ที่มีแนวโน้มว่าน่าจะมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทในปีนี้ ดิจิตอลคอนเทนต์จะเป็นตัวชี้วัดว่าใครอยู่หรือจะไปตั้งแต่วันแรกของการออกอากาศว่าคอนเทนต์ใครดีใครได้ แน่นอนว่าสำหรับช่องที่มีพื้นฐานมาจากธุรกิจทีวีอยู่แล้วมีความได้เปรียบในเรื่องคอนเทนต์ไว้เต็มหน้าตัก เช่น ช่อง 3, ช่อง 9, อาร์เอส และแกรมมี่
แต่สำหรับช่องอื่นๆ ที่มีพื้นฐานมาจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องเลยจะต้องรับศึกหนักเพิ่มเป็น 2 เท่า เพราะจะต้องสร้างทั้งความพร้อมของสถานที่ ห้องส่ง และอุปกรณ์แล้ว ยังต้องเร่งหาคอนเทนต์มาไว้ในมือให้ทันออนแอร์ด้วย จึงเป็นโอกาสทองของบริษัทที่วางตัวเป็น “คอนเทนต์ โพรวายเดอร์” ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ รวมถึงโปรดักชันเฮาส์ต่างๆ ที่สามารถแจ้งเกิดให้กับคอนเทนต์ทุกประเภท
• โปรดักชันเฮาส์ผุด 1,000 บริษัท •
นายเกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ก แอนด์ เดอะซิตี้ จำกัด หรือที่รู้จักกันดีในนาม “น้าเน็ก” เปิดเผยว่า การเกิดดิจิตอลทีวีเป็นโอกาสของคนเบื้องหลังการผลิตรายการต่างๆ เพราะความต้องการทางด้านคอนเทนต์ที่สูงมากบวกต้นทุนโปรดักชันค่อนข้างต่ำ คนดีมีฝีมือหันมาเปิดบริษัทเองมากขึ้น เห็นจากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ที่พบว่า 3 เดือนที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนขึ้นใหม่กว่า 1,000 บริษัทในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโปรดักชันเฮาส์
จากความต้องการในเรื่องของดิจิตอลคอนเทนต์นี่เอง เชื่อว่ามูลค่าตลาดน่าจะสูงถึงหลัก 10,000 ล้านบาทเพื่อมารองรับดิจิตอลทีวี 24 ช่อง ออกอากาศแบบ 24 ชั่วโมงต่อวัน และเพียงระยะเวลาราว 2 เดือนเท่านั้น หลังจากเคาะประมูลดิจิตอลทีวีจบลงถึงวันนี้พบว่า มูลค่าการลงทุนของกลุ่มธุรกิจ “คอนเทนต์ โพรวายเดอร์” สูงถึง 2,250 ล้านบาทไปแล้ว ทั้งแบบถูกจ้างผลิตและไทม์แชริ่ง โดยบางรายมองการณ์ไกลเตรียมตัวลงทุนกันไว้แต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่วางตัวเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์โพรวายเดอร์มาตั้งแต่ต้น ต่างทุ่มงบลงทุนด้านคอนเทนต์เพิ่มเป็นหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป ทั้ง “กันตนา” “เจเอสแอล” และ “ทีวีธันเดอร์” ถือเป็นตัวจริงที่พร้อมลุยผลิตดิจิตอลคอนเทนต์แบบหมดกระเป๋า นี่ยังไม่นับรายเล็กอีกมากมาย จึงมีแนวโน้มว่าปีนี้น่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในการสร้างดิจิตอลคอนเทนต์ร่วม 10,000 ล้านบาท
• ยักษ์คอนเทนต์เพิ่มทุนผลิตเพียบ •
นายจาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหารบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กันตนาวางตัวเป็นคอนเทนต์โพรวายเดอร์มาตั้งแต่ต้น และเตรียมตัวรับมือกับดิจิตอลทีวีมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา งบการลงทุนราว 1,100 ล้านบาท แบ่งเป็น 200 ล้านบาท ซื้อคอนเทนต์รายการจากต่างประเทศ 40 รายการ และอีก 500-600 ล้านบาทสำหรับด้านการผลิต โดยจะเพิ่มบุคลากรอีก 30% และอีก 300 ล้านบาทสำหรับสร้างสตูดิโอขึ้นมาใหม่ โดยกันตนาจะผลิตรายการให้ช่อง3, 5, 7, 9 รวมถึงรายใหม่ที่ประมูลดิจิตอลทีวีมาได้อย่าง ไทยรัฐ เป็นต้น แบบจ้างผลิต ส่วนไทม์แชริ่งมีบ้าง สิ้นปีในส่วนของทีวีจะมีรายได้กว่า 1,600-1,700 ล้านบาทจากปีก่อนมีรายได้ 1,200 ล้านบาท ซึ่งรายได้ใหม่มาจากการผลิตคอนเทนต์ป้อนให้ดิจิตอลทีวี
นางจำนรรค์ศิริตัน หนุนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด กล่าวว่า ปีนี้ใช้งบ 200-300 ล้านบาทเพิ่มเครื่องมือผลิตรายการป้อนดิจิตอลทีวี ซึ่งดิจิตอลทีวีเกือบทุกช่องสนใจให้เจเอสแอลร่วมเป็นผู้ผลิตรายการให้หลายราย ล่าสุดได้เจรจากับ 9 ช่องดิจิตอลทีวี ได้แก่ 1. ไทยรัฐทีวี 2. อมรินทร์ทีวี 3. พีพีทีวี 4. วอยซ์ทีวี 5. กลุ่มทรู 6. เครือเนชั่น 7. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ 8. ช่อง 9 อสมท และ 9. ช่อง 7 เพื่อผลิตคอนเทนต์รายการต่างๆ ป้อนให้รวมกว่า 25-30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แบบรับจ้างผลิตตามโจทย์ที่ช่องทีวีดิจิตอลต่างๆ กำหนดตามคอนเซ็ปต์ แบบเคสบายเคส มีทั้งรับจ้างผลิต 100%, ร่วมผลิต และอื่นๆ ตามที่ตกลงกัน คาดว่าปีแรกจะมีรายได้จากการผลิตคอนเทนต์ให้ดิจิตอลทีวีประมาณ 240 ล้านบาท
นายพิรัฐ เย็นสุดใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ครีเอทิสต์ มีเดีย จำกัด ในเครือทีวีธันเดอร์ กล่าวว่า ทีวีธันเดอร์เตรียมกว่า 600 ล้านบาท แบ่งเป็น 400-500 ล้านบาทสำหรับค่าโปรดักชันผลิตรายการใหม่ๆ และอีก 100 ล้านบาทเพื่อสร้างสตูดิโออีก 2-3 แห่ง รวมถึงรับพนักงานเพิ่มอีก 30% จากที่มีอยู่ราว 100 กว่าคน เพื่อผลิตคอนเทนต์ป้อนให้ดิจิตอลทีวีเน้นรับจ้างผลิตเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้มีดิจิตอลทีวีมาเจรจากับบริษัทหลายรายเพื่อต้องการให้ผลิตรายการป้อนให้
นางสาวอภิรดี เอี่ยมพึ่งพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด กล่าวว่า ไฟว์สตาร์ได้ใช้งบกว่า 200 ล้านบาทสำหรับรีมาสเตอร์ภาพยนตร์ที่มีอยู่กว่า 260 เรื่องสู่ระบบเอชดี รวมถึงละครอีกกว่า 18 เรื่อง มินิซีรีส์อีก 2 เรื่อง รวม 600 ชั่วโมง เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการขายคอนเทนต์ภาพยนตร์สูงมากหลังการเกิดของดิจิตอลทีวีกว่า 24 ช่องในปีนี้ที่ส่วนใหญ่ต้องการคอนเทนต์ที่ใช้งานได้ทันที ขณะนี้เริ่มเจรจาแล้วหลายช่อง ตั้งเป้ารายได้ไว้กว่า 500 ล้านบาท และได้เพิ่มทีมโปรดักชันเพื่อผลิตละครซิตคอม ภายใต้บริษัทในเครือชื่อ “สตาร์ดิโอ” เน้นรับจ้างผลิตป้อนให้ดิจิตอลทีวีแบบไทม์แชริ่ง คาดว่าจะมีรายได้ในปีแรกประมาณ 30 ล้านบาท จากที่เลิกผลิตละครไปกว่า 6 ปีที่ผ่านมา ถึงสิ้นปีนี้จะมีรายได้ถึง 1,000 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้เพียง 200 ล้านบาทจากภาพยนตร์ที่เข้าฉายเพียง 3 เรื่อง
ฟาก “ซูเปอร์จิ๋ว” ที่ถือเป็นผู้นำในการผลิตคอนเทนต์สำหรับเด็กรายหนึ่งก็พร้อมลุยในศึกดิจิตอลทีวีด้วยเช่นกัน โดย นายวิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ กรรมการบริหาร บริษัท ซูเปอร์จิ๋ว จำกัด และบริษัท ซูเปอร์จิ๋ว อีเวนต์ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ได้ถูกทาบทามจากดิจิตอลทีวีหลายช่อง รวมแล้วกว่า 30 รายการที่ต้องการให้บริษัทผลิตรายการให้ แต่บริษัทสามารถทำได้เพียง 8-10 รายการ โดยปีนี้จะเพิ่มงบลงทุนประมาณ 50 ล้านบาทรองรับการผลิตรายการป้อนให้ดิจิตอลทีวี จากปัจจุบันบริษัทผลิตรายการให้ฟรีทีวีอยู่แล้ว 7 รายการ
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์มากขึ้นจากปีก่อนมี 4 รายการในฟรีทีวี ปีนี้เพิ่มอีก 10 รายการ สำหรับดิจิตอลทีวี คาดว่าสิ้นปีจะมีรายได้ 50 ล้านบาท เพิ่มจาก 3-4 ล้านบาทในปีก่อน
ตบท้ายด้วย “เน็ก แอนด์ เดอะซิตี้” บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ของ “น้าเน็ก” หลังซุ่มเปิดตัวมา 1 ปี ปีนี้พร้อมลุยผลิตรายการป้อนดิจิตอลทีวีกว่า 20 รายการ เช่น 1. NAKE AND THE CITY ออกอากาศช่องไทยรัฐทีวี 2. เป่า ยิ้ง ฉุบ เงินล้าน ช่องไทยรัฐทีวี 3. NAKED TALK ช่อง PPTV 4. พิธีรีตองช่อง PPTV 5. THE NAKED SHOW ช่อง 9 6.8x10 ช่องไทยรัฐทีวี 7. TURNING POINT ช่องไทยรัฐทีวี และ 8. สนุกคิด IS ALL AROUND ช่อง 9 ฟรีทีวี เป็นต้น มั่นใจว่าสิ้นปีจะมีรายได้กว่า 150 ล้านบาท ภายใต้ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และมีการเพิ่มทุนต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มี.ค.นี้ไปจนถึงไตรมาสสอง
• เผยต้นทุนผลิตเท่าฟรีทีวี •
นายเกตุเสพย์สวัสดิ์ หรือ “น้าเน็ก” กล่าวว่า ต้นทุนผลิตรายการให้ดิจิตอลทีวีอยู่ในระดับราคาเดียวกับฟรีทีวีในปัจจุบัน เฉลี่ยวาไรตีทั่วไปตอนละ 1 แสนบาท ส่วนละครตอนละ 1 ล้านบาท เพราะต้องผลิตในรูปแบบดิจิตอลและคุณภาพต้องใกล้เคียง หรือดีกว่าเพื่อแข่งขันได้ แต่ในแง่ของมูลค่าราคาขายของแต่ละรายการนั้นจะต่ำกว่าฟรีทีวี 40% ส่วนสำคัญมาจากยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าดิจิตอลทีวีจะเกิดได้จริงหรือไม่ เอเยนซีโฆษณาก็ยังขอดูสถานการณ์ก่อนเทเม็ดเงิน ทำให้แต่ละช่องมีความเสี่ยง ส่งผลให้การซื้อหรือจ้างผลิตคอนเทนต์ในช่วงแรกจะใช้ดีลในการชำระเงินค่อนข้างยาวและราคาขายต้องต่ำกว่าฟรีทีวี
ดังนั้นผู้ผลิตรายการให้ดิจิตอลทีวีในระยะแรกนี้จะต้องมีสายป่านที่ดี ท้ายที่สุดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ดูโทรทัศน์น้อยลง วัยรุ่นเข้าถึงรายการต่างๆ ผ่านดีไวต์มากขึ้น ไลฟ์สไตล์คนไทยอยู่บนพื้นฐานเทคโนโลยีไร้สาย แล้วดิจิตอลทีวีจะมีอนาคตเป็นเช่นไรนั้น ภายใน 5 ปีน่าจะเห็นภาพชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วช่องดิจิตอลทีวีกว่า 24 ช่องจะอยู่ได้เพียง 3-5 ช่องเท่านั้น ส่วนช่องอื่นๆ อาจจะล้มหายไป หรือเปลี่ยนมือผู้เล่นใหม่เข้ามาแทน