xs
xsm
sm
md
lg

เรือด่วนลุ้นขึ้นราคา-นักธุรกิจริมเจ้าพระยาโอดการเมืองป่วนทำทัวร์ยุโรป-จีนลดฮวบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

    นาวาโท ปริญญา รักวาทิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด
เรือด่วนเจ้าพระยาจ่อขึ้นค่าโดยสาร หลังแบกต้นทุนทั้งราคาน้ำมัน มา 3 ปี แถมเจอค่าแรง 300 บาทซ้ำอีก ลุ้น กก.พิจารณาค่าโดยสารเรือประจำทางชุดใหญ่ไฟเขียว หลังอนุฯ ชุดเล็กเห็นชอบแล้ว ชี้มีเหตุอันควรตามสถานการณ์ ผู้ประกอบธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยารวมตัวตั้งสมาคมฯ หวังสร้างแรงเจรจาภาครัฐ เร่งพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับการท่องเที่ยวฟื้น ศก.ประเทศ โอดปัญหาการเมืองทำนักท่องเที่ยวหนี ทัวร์ยุโรปลด 20-50% จีน-ไต้หวันลด 20-30%

นาวาโท ปริญญา รักวาทิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำหนังสือเพื่อขอปรับขึ้นค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาอีกระยะละ 2 บาท ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าโดยสารเรือประจำทางได้มีมติว่า ในขณะนี้เหตุผลต่างๆ สมควรที่จะให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารเรือด่วนได้ในระยะละ 1 หรือ 2 บาท

โดยภายในสัปดาห์หน้าจะสรุปเรื่องและความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ที่มีนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เป็นประธาน และคาดว่าคณะกรรมการชุดใหญ่จะประชุมในต้นเดือนเมษายน 2557

“รัฐบาลมีนโยบายให้ผู้ประกอบการเรือด่วนเจ้าพระยาตรึงค่าโดยสารมานานกว่า 3 ปีแล้ว โดยให้เหตุผลว่ามีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทช่วยเหลือแล้ว แต่ความจริงต้นทุนค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่นั้นคำนวณจากราคาน้ำมันที่ลิตรละ 25 บาท จึงต้องแบกรับต้นทุนมานาน ประกอบกับนโยบายปรับค่าแรงวันละ 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ยิ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 40% ซึ่งแม้จะมีเหตุผลสมควรขึ้นค่าโดยสารแต่ส่วนตัวไม่มั่นใจว่าภาครัฐจะพิจารณาให้” นาวาโท ปริญญากล่าว

นาวาโท ปริญญากล่าวว่า จำนวนผู้โดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาในขณะนี้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติที่เฉลี่ยประมาณ 35,000-40,000 คนต่อวัน หลังจากก่อนหน้านี้ได้ปรับลดลง แม้จะมีการคาดหวังว่าการปิดถนนชุมนุมในช่วงที่ผ่านมาจะทำให้ประชาชนหันมาใช้เรือในการเดินทางแทนรถยนต์มากขึ้น แต่ก็มีแค่ 10% ที่เพิ่มขึ้นและเป็นช่วงสั้นๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นการมาทดลองเท่านั้น เนื่องจากปัญหาหลักของการเดินทางโดยเรือด่วนเจ้าพระยาคือความไม่สะดวกในการเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ และยังมีค่าใช้จ่ายสูงเพราะไม่มีระบบตั๋วร่วม

สำหรับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 และการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการต่างๆ สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร เรือท่องเที่ยว เรือโดยสาร เนื่องจากภาพรวมนักท่องเที่ยวจากยุโรปลดลงประมาณ 50% ส่วนจีน ไต้หวัน ลดลง 20-30% โดยหากแยกเฉพาะเรือท่องเที่ยว เรือเจ้าพระยาปริ๊นเซส, เรือเจ้าพระยาครุยส์ ลูกค้าลดลงเกือบ 40% ซึ่งการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเรื่องทางจิตวิทยา จึงไม่ได้มีผลอะไรมากนัก เพราะสถานการณ์จริงยังไม่ชัดเจน ยังมีเหตุวางระเบิดยังมีอยู่ จึงไม่สงบจริง และหลายประเทศได้ออกประกาศเตือนพลเมืองของตนเองในการเดินทางมาประเทศไทยไปแล้ว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยาได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา และได้จัดประชุมสมาคมฯ ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 โดยมีมติตั้ง ตนเองเป็นประธานสมาคมฯ และมีคณะอนุกรรมการฯในด้านโครงสร้างพื้นฐาน, ประชาสัมพันธ์, แผนธุรกิจการค้า สถานที่ท่องเที่ยว เรือท่องเที่ยว เป็นต้น

ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้นในการร่วมกับภาครัฐพัฒนาและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและประชาชนในแม่น้ำเจ้าพระยา จากเดิมที่ภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดแนวทาง นโยบาย และแผนต่างๆ โดยภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงไม่เคยมีส่วนร่วม และทำให้โครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวก ท่าเรือต่างๆ ไม่ได้รับการพัฒนาปรับปรุง ท่าเรือมีสภาพเก่าอายุกว่า 20 ปี และมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยปัญหาเร่งด่วนในขณะนี้คือ กรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะยกเลิกสถานีรถไฟฟ้า สะพานตากสิน (S6) บีทีเอส ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมต่อหลักในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และยังเชื่อมต่อกับสถานีพระนั่งเกล้า (สายสีม่วง) และท่าบางโพ (สถานีรัฐสภา ของสายสีม่วงใต้) ได้ในอนาคต ซึ่งหากยกเลิกผู้ใช้บริการจะต้องเดินไปสถานีสุรศักดิ์ใช้เวลา 20-30 นาทีจากเดิมที่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ภายใน 3 นาทีหลังจากขึ้นจากเรือ โดยจะหารือกับผู้ว่าฯ กทม.ในต้นเดือนเมษายนนี้ รวมถึงหารือกรณีที่สำนักงานระบายน้ำของ กทม.จะสร้างเขื่อนกั้นน้ำซึ่งจะทำลายทัศนียภาพและปิดกั้นพื้นที่ท่องเที่ยวอีกด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น