xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมเครื่องดื่มโต้ เพิ่มภาษีน้ำอัดลมไม่แก้ปัญหาโรคอ้วนแต่ลดรายได้เข้ารัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยเห็นต่างกับข้อเสนอของแผนงานวิจัยอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่เสนอให้กรมสรรพสามิตพิจารณาเพิ่มภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำอัดลม” เพราะการขึ้นภาษีดังกล่าวไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาโรคอ้วนและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ของประชาชนอย่างตรงจุด และยังอาจลดรายได้ภาษีของรัฐอีกด้วย

นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเราควรมองปัญหาแบบองค์รวม แทนการพุ่งเป้าไปที่อาหารและเครื่องดื่มชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว เพราะโรคอ้วนเกิดจากการที่ร่างกายได้รับพลังงานจากการบริโภคมากกว่าที่ร่างกายใช้ไปในแต่ละวัน พลังงานส่วนเกินเหล่านี้ ไม่ว่าจะมาจากอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใดก็ล้วนแต่ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ทั้งสิ้น การเลือกจัดเก็บภาษีเฉพาะกับเครื่องดื่มจึงเป็นนโยบายที่เลือกปฏิบัติโดยไม่สอดคล้องกับหลักโภชนาการ และจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาโรคอ้วนได้ การมุ่งสร้างให้ประชาชนมีการบริโภคที่พอเหมาะและสมดุล ร่วมกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมออกกำลังกายอย่างเพียงพอ จึงเป็นทางแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืนที่สุด”

นายวีระ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีการเก็บภาษีสรรพสามิตที่เลือกปฏิบัติกับน้ำอัดลมมานานมากแล้ว แต่นักวิชาการกลุ่มนี้กลับมีการเรียกร้องให้เก็บภาษีจากน้ำอัดลมมากขึ้นอีก โดยไม่ได้สนใจถึงพลังงานที่ผู้บริโภคได้รับจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มประเภทอื่น ซ้ำยังไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า หากผู้ประกอบการผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภค ย่อมจะทำให้ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นตามไปด้วยและถึงแม้ผู้บริโภคบางส่วนจะเลิกดื่มน้ำอัดลมเพราะราคาที่เพิ่มสูงขึ้น แต่การบริโภคน้ำอัดลมที่ลดลงไม่ได้แปลว่าผู้บริโภคจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นเสมอไป เพราะหากผู้บริโภคเพียงหันไปบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารอื่นๆ ที่ไม่เสียภาษี แต่ยังคงไม่ใส่ใจในการบริโภคอย่างพอเหมาะร่วมกับการออกกำลังกายอย่างเพียงพอแล้ว ผลที่ตามมาก็คือ นอกจากปัญหาเรื่องโรคอ้วนจะไม่ได้ดีขึ้น รัฐก็จะเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีไปด้วย

“มีการศึกษาและบทเรียนระดับนานาชาติมากมายที่พบว่ามาตรการภาษีไม่น่าจะสามารถสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมได้ เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคและวิถีชีวิตเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก นอกจากนั้นยังมีการรายงานด้านสถิติอาหารของประเทศแคนาดาที่แสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 2542-2554 มีการบริโภคน้ำอัดลมลดลงถึงร้อยละ 32 แต่อัตราของโรคอ้วนยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในประเทศออสเตรเลียก็พบสถิติคล้ายกัน กล่าวคือตั้งแต่ช่วงปี 2523-2548 พบว่ามีการบริโภคน้ำตาลลดลงถึงร้อยละ 20 แต่กลับมีประชากรที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว สถิติเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการเลือกปฏิบัติกับอาหารหรือสารอาหารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาโรคอ้วนได้ เพราะอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดสามารถทำให้อ้วนได้ถ้าบริโภคเกินพอดี” นายวีระ กล่าว

“สมาคมฯ พร้อมสนับสนุนและร่วมทำงานกับทุกฝ่ายในการพัฒนาสุขภาพโดยรวมของคนไทย ควบคู่กับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในประเทศไทย หากเราต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างจริงจัง ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ อุตสาหกรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจะร่วมมือกันในการหาวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพในระยะยาวของคนทั้งประเทศ” นายวีระกล่าวสรุป


กำลังโหลดความคิดเห็น