นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส แผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา สภาคอนเกรส ประเทศเม็กซิโก ได้ผ่านกฎหมายขึ้นภาษีอาหารขยะ หรือ Junk Food ซึ่งได้รวมกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ให้ความหวานต่างๆ 1 เปโซต่อลิตร และขนบขบเคี้ยว เพิ่มอีกร้อยละ 8 โดยเรื่องดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างของประเทศให้ความสำคัญคุณภาพชีวิตของประชากรในระยะยาว โดยประเทศเม็กซิโก ถือเป็นประเทศที่ประชากรดื่มน้ำอัดลมมากที่สุดในโลก และมีผลการศึกษาว่า การดื่มเครื่องดื่มรสหวานมีความสัมพันธ์กับปริมาณการกินขนมขบเคี้ยวด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยนั้น พบว่ารัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เพื่อดูแลผู้ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน ซึ่งมีโรคแทรกซ้อนหลายอย่าง และทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร รวมทั้งความพิการจากโรค กว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท โดยโรคเหล่านี้มักเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคและการไม่ออกกำลังกาย จึงจำเป็นต้องสร้างมาตรการทางสังคมเพื่อป้องกันในระยะยาว การขึ้นภาษีอาหารขยะจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการบริโภคเกินพอดี เพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในระยะยาว
น.ส.สุลัดดา พงษ์อุทธา นักวิจัยแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ที่รวมการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวานหลายประเภท แต่ยังเป็นการเน้นเก็บภาษีเพื่อเพิ่มรายได้รัฐ ทำให้อัตราการจัดเก็บหรือยกเว้นภาษีในเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ไม่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล ยังถือว่าถูกเก็บภาษีต่ำกว่าเครื่องดื่มที่ไม่เติมน้ำตาล และเครื่องดื่มบางประเภทถูกเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราเพดานมาก โดยกรมสรรพสามิต ยังไม่เคยมีการปรับอัตราภาษีมานานมากตั้งแต่การบัญญัติ พ.ร.บ.ซึ่งหากรัฐต้องการป้องกันสุขภาพประชาชนและลดภาระค่าใช้ด้านสุขภาพ ก็สามารถปรับภาษีให้เต็มเพดานได้ และกำหนดอัตราภาษีที่จะจัดเก็บโดยใช้ระดับปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มเป็นเกณฑ์ได้ เพื่อทำให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณมากและจะสร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้มากกว่า ได้รับการจัดเก็บภาษีในอัตราที่เหมาะสม
ด้าน ท.พญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่า ปริมาณการบริโภคน้ำตาลทั้งทางตรงและทางอ้อมของคนไทย ตั้งแต่ปี 2540-2552 นั้น มีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2540 มีปริมาณการบริโภครวม 1.7 ตัน แต่ปี 2552 ปริมาณการบริโภค 1.97 และยังพบว่าคนไทยได้รับน้ำตาลทางอ้อมจากเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลชนิดต่างๆ จากปี 2540 อยู่ที่ร้อยละ 34 ในปี 2552 เพิ่มเป็นคิดเป็นร้อยละ 46 ซึ่งสอดคล้องกับงบประมาณที่ผู้ประกอบการใช้ลงทุนในด้านการตลาดและโฆษณาสำหรับอาหารในหมวดดังกล่าว หากเปรียบเทียบจะพบว่า เมื่อปี 2533 คนไทยจะต้องทำงาน 25 นาทีเพื่อซื้อน้ำอัดลมหนึ่งขวด แต่เมื่อปี 2551 จะใช้เวลาทำงานเพียง 18 นาทีเพื่อซื้อน้ำอัดลมหนึ่งขวดเท่านั้น
“การรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตระหนักเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่มีที่ใดในโลกที่ใช้มาตรการเดียวจัดการปัญหานี้แล้วได้ผล ฉะนั้น มาตรการทางภาษีและราคา จึงถือเป็นกลไกสากล ที่ได้รับการยอมรับว่า มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าในการจัดการพฤติกรรมการบริโภคอาหารขยะ อย่างไรก็ตาม การจัดการพฤติกรรมการบริโภคจนเกินพอดีของประชาชนจำเป็นต้องอาศัยมาตรการจัดการปัจจัยทางราคา ร่วมกับมาตรการอื่นๆไปพร้อมๆกัน เพื่อลดปัญหาโรคไม่ต่อต่อเรื้อรังลง” ท.พญ.ปิยะดา กล่าว