xs
xsm
sm
md
lg

“บางจาก” 30 ปีและอนาคตที่ไม่เปลี่ยน รุกพลังงานทดแทนสร้างสังคมสีเขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บางจากมองหาโอกาสและพันธมิตรในการลงทุน เพราะอนาคตตัวเนื้อน้ำมันจากฟอสซิลนั้นจะโตน้อยลง เทรนด์ของโลกขณะนี้และอนาคตพลังงานทดแทนจะเข้ามามีบทบาทเพิ่ม และอีกอย่างเราจะเดินคนเดียวในโลกนี้ลำพังไม่ได้และจะใหญ่คนเดียวก็คงไม่มีใครคบ บางจากจึงพร้อมที่จะหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ และพันธมิตรลงทุนที่มีศักภาพที่เรายังคงไม่เปลี่ยนหลักการคือการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนเพื่อให้เป็นสังคมสีเขียว” นายวิเชียร อุษณาโชติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก กล่าวช่วงการดูนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนที่เยอรมนี และฝรั่งเศส

ทั้งนี้ การเดินทางไปศึกษาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ของ บ. IBC Solar AG ที่เยอรมนีนับเป็นเทคโนโลยีที่ดีสุดในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะการติดตั้งบนหลังคาบ้านหรือโซลาร์รูฟท็อป ที่ขณะนี้รัฐบาลไทยได้ให้การส่งเสริมและบางจากฯ เองก็ตอบสนองนโยบายดังกล่าวด้วยการติดตั้งที่สถานีบริการน้ำมันแล้ว 2 แห่งและกำลังดำเนินการอีก 11 แห่ง นอกเหนือจากโซลาร์ฟาร์ม (Sunny Bangchak) ที่มีกำลังผลิต 118 เมกะวัตต์

จากการศึกษาพบว่าโมเดลธุรกิจของ IBC นั้นวางเครือข่ายการบริการทั้งก่อนและหลังการขายให้กับซับคอนแทรกต์มากถึง 600 รายแต่จะต้องผ่านมาตรฐานจาก IBC ก่อนเท่านั้นเพื่อให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนบ้าน อาคาร ได้มาตรฐานที่ตรงกันทำให้คนเยอรมันเชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม คนเยอรมันติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากส่วนหนึ่งเพราะระดับอัตราค่าไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่รับซื้อ (Feed In Tariff) อยู่ในระดับสูงและเร่งลดลงเพื่อเร่งรัดให้มีการลงทุนติดตั้ง จนถึงปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณ 10 ยูโรเซ็นต์สำหรับโรงไฟฟ้า และ 13 ยูโรเซ็นต์สำหรับหลังคาบ้าน

ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าที่ขายให้กับครัวเรือนอยู่ที่ 28 ยูโรเซ็นต์ ทำให้ครัวเรือนหันมานิยมติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง พร้อมทั้งติดตั้งแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้าไว้ในช่วงที่ผลิตเกินความต้องการใช้ ขณะที่การลงทุนโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์มีน้อยลงจากผลตอบแทนการลงทุนที่ต่ำ ดังนั้นแนวโน้มอุตสาหกรรมการติดตั้ง Solar Rooftop และแบตเตอรี่น่าจะสดใสในอนาคต “บางจาก” เล็งเห็นช่องทางธุรกิจใหม่จากเทคโนโลยีดังกล่าวคือ การบริการที่ครบวงจรทั้งก่อนและหลังการขายที่ไทยในธุรกิจนี้ยังไม่มีแบบจริงๆ จังๆ จึงมองความเป็นไปได้ในการหาพันธมิตรในเรื่องของธุรกิจบริการของโซลาร์รูฟท็อป

ด้านพลังงานลม จากการศึกษาเทคโนโลยีล่าสุดของ บ. Turbina Energy AG ของเยอรมนี แนวโน้มจะเป็นกังหันขนาดเล็ก เน้นความสวยปลอดภัย เสียงเบา และประสิทธิภาพผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่ที่ความเร็วลมเพียง 1.5 เมตรต่อวินาที แต่ราคายังค่อนข้างสูงทำให้ยังไม่เหมาะต่อไทยที่มีค่าไฟฟ้าต่ำมากนัก ยกเว้นพื้นที่ที่ลมต่ำและไฟยังเข้าไม่ถึงก็เหมาะสม และกรณีถ้ามาผลิตชิ้นส่วนในไทยก็อาจจะมีราคาต่ำในอนาคต

ส่วนการเดินทางไปดูเทคโนโลยี The Hive อาคารอัจฉริยะของ บ. Schneider Electric ที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการพลังงานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก อาคารของบริษัทซึ่งถือเป็นอาคารอัจฉริยะที่เชื่อมทุกระบบที่ใช้งานให้เข้าถึงกัน ระบบพลังงานและอื่นๆ ของอาคารจึงอยู่ภายใต้สถาปัตยกรรมเดียวกันบน EcoStuxure และสามารถบริหารจัดการระบบเหล่านี้ได้ผ่านระบบควบคุมอาคาร ทำให้มีการประหยัดค่าใช้จ่ายลงอย่างมาก แต่ความสะดวกสบายของพนักงานในอาคารยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และที่สำคัญรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ากำลังจะเป็นส่วนสำคัญของเมืองอัจฉริยะ Schneider จึงเริ่มดันโซลูชันระบบขนส่งที่สะอาดด้วยพื้นที่จอดรถที่ติดตั้งสถานีจ่ายไฟฟ้า 3 คู่ สำหรับการชาร์จปกติและสถานีฯ แบบชาร์จเร่งด่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 7 คัน ซึ่งบางจากเองก็สนใจการติดตั้งเครื่องชาร์จแบตเตอร์รี่แบบเร็ว (CuickCharger) ภายในปั๊มบางจาก พร้อมรองรับการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าอนาคตสอดรับนโยบายรัฐที่จะมุ่งสู่สังคมสีเขียวในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น