“บางจาก” ก้าวสู่ปีที่ 30 ปรับบทบาทปี 2020 หรือปี 2563 สร้างEBITDA เพิ่มเป็น 2.5 หมื่นล้านบาทหรืออีก 1.5 เท่าจากสัดส่วนธุรกิจใหม่ 50% เน้นย้ำองค์กรที่ยังคงยึดหัวใจธุรกิจที่ยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม เร่งเครื่องหาพันธมิตรทั่วโลกหวังแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ที่สร้างรายได้ บินลัดฟ้าดูเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ที่ดีที่สุดในโลกที่เยอรมนี และแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่ฝรั่งเศส
นายวิเชียร อุษณาโชติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้บางจากได้ทำธุรกิจมาจะครบรอบ 30 ปี โดยยังคงยึดถือวัฒนธรรมองค์กรที่พัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจากนี้ไปก็ยังคงยึดมั่นในหลักการนี้และพร้อมที่จะหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจใหม่ โดยแผนธุรกิจปี 2020 หรือปี 2563 ได้วางเป้าหมายที่จะเพิ่มกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าเสื่อม (อีบิตดา) ระหว่างธุรกิจเดิมคือการกลั่นและจำหน่าย กับธุรกิจใหม่สัดส่วน 50:50 จากปัจจุบันมีสัดส่วน 78:22 หรือจะมีอีบิตดารวมระดับ 2.5 หมื่นล้านบาท มากกว่าปัจจุบัน 1.5 เท่าที่ตั้งเป้าไว้ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้ต้องใช้เงินลงทุนปีละไม่ต่ำกว่า 5-8 พันล้านบาท หรือรวม 7 ปี (ปี 57-63) จะลงทุนประมาณ 3.5-5.6 หมื่นล้านบาท
“บางจากมองหาโอกาสและพันธมิตรในการลงทุน เพราะอนาคตตัวเนื้อน้ำมันจากฟอสซิลนั้นจะโตน้อยลงแต่คงไม่ถึงกับจะลดลงระยะ 5-10 ปีจากนี้ แต่ถ้าเทคโนโลยีไปเร็วก็คงค่อยๆ ลง เทรนด์ข้างหน้าพลังงานทดแทนจะเข้ามามีบทบาทเพิ่ม และอีกอย่างอนาคตเราจะเดินคนเดียวในโลกนี้ลำพังไม่ได้และจะใหญ่คนเดียวก็คงไม่มีใครคบ บางจากจึงพร้อมที่จะหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ และพันธมิตรลงทุนที่มีศักภาพที่ยังเน้นดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน” นายวิเชียรกล่าว
สำหรับธุรกิจใหม่ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ได้แก่ การเข้าไปซื้อแหล่งสำรวจและผลิตน้ำมันโดยมีผู้ติดต่อบางจากมา 2-3 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจารายละเอียด โดยมีแหล่งสำรวจและผลิตที่ในไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังมองลู่ทางลงทุนผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ในญี่ปุ่น ซึ่งมองเป้าหมายลงทุนเบื้องต้นระดับ 50 เมกะวัตต์ โดยจะเข้าไปถือหุ้นในระดับ 30-40% ซึ่งเห็นว่าโซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่นให้การส่งเสริมต่างชาติไปลงทุนมาก และขนาดและจำนวนเมกะวัตต์ยังสูงอยู่ขณะที่ไทยขนาดใหญ่หรือโซลาร์ฟาร์มถูกจำกัด ซึ่งการเจรจาคาดว่าจะสรุปได้ในปีนี้
เล็งการบริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
นายวิเชียรกล่าวว่า บางจากได้เดินทางมาศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมนีกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้าน หรือโซลาร์รูฟท็อปของบริษัท IBC Solar AG ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ที่ดีสุดในโลกในขณะนี้ ซึ่งทำให้เห็นรูปแบบธุรกิจที่ IBC มีเครือข่ายการบริการที่กระจายไปยังรายอื่นๆ ให้มาติดตั้งโซลาร์รูฟมากถึง 600 บริษัทในเยอรมนี แต่จะต้องผ่านมาตรฐานจาก IBC ก่อนเท่านั้น ทำให้มีจุดเด่นคือคุณภาพบางจากจึงมองความเป็นไปได้ในการหาพันธมิตรในเรื่องของธุรกิจบริการของโซลาร์รูฟท็อปที่ขณะนี้ไทยให้การส่งเสริมการติดตั้งบนหลังคาบ้านแต่การบริการทั้งก่อนและหลังการขายยังไม่มีแบบจริงๆ จังๆ
“รัฐบาลส่งเสริมการผลิตไฟแสงอาทิตย์ 10 ปี (ปี 2555-2564) ถึง 3,000 เมกะวัตต์ บางจากเองก็ตอบสนองนโยบายนี้ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาปั๊มบางจาก 2 แห่งที่ปั๊มวิภาวดี สาขาเกษตร และอยู่ระหว่างติดตั้งเพิ่มอีก 11 แห่ง คาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าได้ในเดือน พ.ค. 57 นอกเหนือจากการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (Sunny Bangchak) ที่มีกำลังการผลิตจำหน่ายรวม 118 เมกะวัตต์” นายวิเชียรกล่าว
ส่วนเทคโนโลยีการผลิตไฟจากกังหันลมขนาดเล็กที่ผลิตไฟฟ้าได้แม้ความเร็วลมต่ำที่สามารถติดตั้งบนหลังคาบ้านเรือนและที่ผลิตไฟฟ้าที่ระดับความเร็วลมต่ำ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของบริษัท Tubina Energy AG พบว่าเทคโนโลยีนี้เข้าถึงบ้านในเยอรมนีที่สามารถติดตั้งได้บนหลังคาบ้านเรือน หรือประยุกต์ใช้กับอาคารอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องติดตั้งเสาเพิ่ม สามารถใช้ร่วมกับระบบพลังงานแสงอาทิตย์ได้ ผลิตไฟได้ที่ความเร็วลมเพียง 1.5 เมตรต่อวินาทีซึ่งถือว่าน้อยที่สุดของกังหันที่ผลิตในโลกที่จะเริ่มผลิตไฟฟ้าที่ 3 เมตรต่อวินาทีขึ้นไป ไม่มีเสียง ไม่ต้องซ่อมบำรุง ปลอดภัยสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญผู้ติดตั้งสามารถประหยัดไฟได้มาก เนื่องจากค่าไฟที่เยอรมนีสูงเมื่อเทียบกับไทยที่ยังอยู่ระดับต่ำ แต่ก็น่าสนใจกรณีพื้นที่ลมต่ำๆ ซึ่งคงจะต้องมาดูรายละเอียดความเร็วลมในไทยที่เหมาะสมเพราะการลงทุนนั้นยังค่อนข้างสูงอยู่
สนเทคโนโลยีชาร์จแบตเตอรี่
ส่วนการเดินทางไปดูเทคโนโลยี The Hive อาคารอัจฉริยะของ บ.Schneider Electric ที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการพลังงานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก อาคารของบริษัทซึ่งถือเป็นอาคารอัจฉริยะที่เชื่อมทุกระบบที่ใช้งานให้เข้าถึงกัน ระบบพลังงานและอื่นๆ ของอาคารจึงอยู่ภายใต้สถาปัตยกรรมเดียวกันบน EcoStuxure และสามารถบริหารจัดการระบบเหล่านี้ได้ผ่านระบบควบคุมอาคาร ทำให้มีการปะหยัดค่าใช้จ่ายลงอย่างมาก แต่ความสะดวกสบายของพนักงานในอาคารยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และที่สำคัญรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ากำลังจะเป็นส่วนสำคัญของเมืองอัจฉริยะ Schneider จึงเริ่มดันโซลูชันระบบขนส่งที่สะอาดด้วยพื้นที่จอดรถที่ติดตั้งสถานีจ่ายไฟฟ้า 3 คู่ สำหรับการชาร์จปกติและสถานีฯ แบบชาร์จเร่งด่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 7 คัน ซึ่งบางจากเองก็สนใจการติดตั้งเครื่องชาร์จแบตเตอรี่แบบเร็ว (CuickCharger) ภายในปั๊มบางจาก พร้อมรองรับการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าอนาคตสอดรับนโยบายรัฐที่จะมุ่งสู่สังคมสีเขียวในอนาคต
นายวิเชียรกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ยังเดินทางไปอังกฤษเพื่อดูเทคโนโลยีการทำเหมืองแร่แบบปิดเพื่อนำมาปรับใช้กับเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จ.ชัยภูมิ ซึ่งโครงการนี้บางจากถือหุ้นอยู่ 12% แต่บริษัทมีการเพิ่มทุนทำให้สัดส่วนของบางจากจะลดเหลือ 6% ซึ่งปัจจุบันโครงการยังไม่ได้รับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ เนื่องจากมีการยุบสภาเสียก่อน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะผลิตปุ๋ยซึ่งบางจากมีปั๊มชุมชนซึ่งเป็นเครือข่ายสหกรณ์จะสามารถเข้าถึงได้
“โครงการนี้จะใช้เงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิต 1 ล้านตันต่อปี แต่การลงทุนจะทยอยเป็นเฟสๆ ซึ่งต้องใช้เวลาเงินที่จะลงไปก็ค่อยๆ ใส่ ซึ่ง บ.ไทยเยอรมันไมนิ่งเขาเพิ่มทุนเมื่อใส่ครบหุ้นเราจะไดรูตลงเหลือ 6% ก็คงต้องดูว่าบริษัทอื่นจะเพิ่มทุนไหม เราเองคงตามไปเฉยๆ” นายวิเชียรกล่าว
สำหรับโอกาสการก่อสร้างโรงกลั่นใหม่ในไทยของบางจากมองว่าเป็นไปได้ยาก ยกเว้นบริษัทต่างชาติที่มีโรงกลั่นในไทยจะขายให้ในราคาต่ำ บางจากเองก็พร้อมซื้อเนื่องจากมองว่าธุรกิจการกลั่นที่มีอยู่เพียงพอต่อความต้องการและการก่อสร้างใหม่ต้องมีขนาดที่คุ้มทุนซึ่งใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ประกอบกับกำไรหรือมาร์จิ้นจากการกลั่นของไทยก็ต่ำทำให้ไม่จูงใจพอที่จะลงทุนใหม่ แต่หากจะเกิดคงเป็นโรงกลั่นขนาดเล็กระดับไม่เกิน 5 หมื่นบาร์เรลต่อวันที่ใช้วิธีซื้อเทคโนโลยีเก่ามา
“ถ้าเป็นโรงกลั่นใหม่เราเองคงสนใจที่จะมองการเข้าไปหาลู่ทางการร่วมทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าเพราะยังมีซัปพลายค่อนข้างน้อย แต่การเติบโตอนาคตจะมีเพิ่มขึ้นซึ่งคงมองโอกาสไปเรื่อยๆ” นายวิเชียรกล่าว