บอร์ด ปตท.อนุมัติตั้งกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เบื้องต้นแยกสินทรัพย์ เช่น ท่อก๊าซฯ ธุรกิจไฟฟ้า เอ็นจีวีเข้ามากลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน “ไพรินทร์” ส่งสัญญาณจุดอันตราย หลัง กฟผ.เรียกก๊าซฯ ใช้ผลิตไฟน้อยลงช่วงต้นปี หาก เม.ย.-พ.ค.ยังไม่กระเตื้องขึ้น เชื่อว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตเหมือนเดิมได้ยาก
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการขยายตัวธุรกิจ โดยเพิ่มกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาอีกกลุ่ม และจะแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (COO) คนใหม่เข้ามาดูแลรับผิดชอบในเร็วๆ นี้ จากปัจจุบันที่ ปตท.แบ่งมีเพียง 2 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย
เบื้องต้น ปตท.จะแยกสินทรัพย์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเข้ามาอยู่ในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติเหลวสำหรับยานยนต์ (NGV) ท่อก๊าซธรรมชาติ หน่วยธุรกิจไฟฟ้าที่ตั้งขึ้นมาใหม่ คือ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี (GPSC) และหน่วยOperation Excellent ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านที่ปรึกษาและบำรุงรักษาแก่บริษัทในเครือ ปตท.
หลังจากนั้นจะพิจารณาแยกทรัพย์สินอื่นๆ ต่อไป เช่น บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด (PTTPL) ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านจัดจำหน่ายให้ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกในกลุ่ม ปตท. ท่าเทียบเรือ เป็นต้น ขณะที่ LNG Receiving Terminal ยังอยู่กับกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ เพราะช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่ก๊าซธรรมชาติ ส่วนธุรกิจถ่านหินอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นหรือกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในอนาคตหากธุรกิจถ่านหินมีผลดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นก็มีแผนจะจัดตั้งเป็น Business Unit เพื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับหน่วยธุรกิจไฟฟ้า
ปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินมูลค่าทรัพย์สินในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานได้ เพราะอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานอยู่
การเพิ่มกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น โดยเห็นว่ากลุ่มธุรกิจนี้มีความเชี่ยวชาญด้านการวางท่อก๊าซฯ มานาน 35 ปี จึงมีความพร้อมที่รับจ้างวางท่อก๊าซฯ ทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เหมือนกับธุรกิจไฟฟ้าที่เดิมสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนในกลุ่ม ปตท. ก็หันไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าในต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้และกำไรเพิ่มมากขึ้น
นายไพรินทร์กล่าวถึงผลกระทบปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นว่า ขณะนี้การดำเนินธุรกิจของ ปตท.ได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยกลางปีนี้บริษัทฯ จะทบทวนแผนการลงทุน 5 ปี (2557-2561) เงินลงทุน 3.27 แสนล้านบาท โดยนำปัจจัยการเมืองและเศรษฐกิจเข้ามาประกอบการพิจารณา ซึ่งเบื้องต้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เสนอรัฐฯ ไปแล้วทั้งโครงการวางท่อก๊าซฯ บนบกเส้นนครสวรรค์ และนครราชสีมา ก็ยังเดินหน้าไปตามแผน แต่การลงทุนบางโครงการอาจจะชะลอไปบ้าง
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนโครงการโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจรที่เวียดนามนั้น ปตท.จะเสนอผลศึกษาความเป็นไปได้โครงการอย่างละเอียด รวมทั้งสัดส่วนผู้ร่วมทุนในเดือน พ.ค.นี้ เบื้องต้นผลตอบแทนการลงทุนดี และเม็ดเงินลงทุนโครงการลดลงมากจากเดิมที่เคยตั้งไว้ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นโครงการ Asean Project เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จะจำหน่ายในเวียดนามแล้ว ยังส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีนตอนใต้ด้วย
นายไพรินทร์กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทฯ คาดว่ายอดขาย ปตท.จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มียอดขาย 2.88 ล้านล้านบาทไม่มากนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ ทำให้การบริโภคน้ำมันเบนซินในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ลดลงไปบ้าง ขณะที่ยอดขายดีเซลคงที่
แต่สิ่งที่เป็นกังวลอยู่ในช่วงนี้คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการเรียกก๊าซฯ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงในช่วงต้นปีนี้ แต่อาจจะมาจากสภาพอากาศหนาวเย็นนาน คงต้องรอดูในช่วง เม.ย.-พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนและเทศกาลท่องเที่ยว ว่าการเรียกใช้ก๊าซฯ จะยังลดลงต่อเนื่องหรือไม่ หาก กฟผ.เรียกก๊าซฯ น้อยลงแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และจะต้องใช้เวลานานในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอีกครั้ง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของ ปตท.ในปีนี้ จากเดิมที่ตั้งไว้ 3 ล้านตัน อาจจะลดลงไปด้วย
“เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่ดำเนินต่อเนื่องมา 3 เดือน ทำให้ประเทศเสียโอกาสมากและยังไม่ทราบว่าจะจบเมื่อไหร่ ได้ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจชะลอตัวไปเรื่อย และถ้าถึงจุดที่เศรษฐกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับเติบโตอย่างเดิมก็เป็นไปได้ยาก จึงอยากให้วิกฤตการเมืองครั้งนี้จบลงโดยเร็ว เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจของประเทศกลับมาขับเคลื่อนได้”