ปตท.เร่งประเมินสินทรัพย์ในต่างประเทศที่ขาดทุนทั้งธุรกิจปาล์มน้ำมันในอินโดนีซีย และท่อก๊าซฯ ในอียิปต์ ว่าจะเลือกแนวทางตัดขายทิ้งหรือไม่ พร้อมเน้นการลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กลุ่ม ปตท. เผยเป้ารายได้ปีนี้ 2.97 ล้านล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิ 3% ใกล้เคียงปีก่อน เหตุแบกขาดทุน NGV-LPG
นายพิจินต์ อภิวันทนาพร ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการประเมินสินทรัพย์ในต่างประเทศที่ประสบปัญหาการขาดทุน เช่น ธุรกิจปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย และท่อส่งก๊าซธรรมชาติในอียิปต์ เพื่อพิจารณาว่าจะขายสินทรัพย์ดังกล่าวออกไปหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้ ปตท.ได้เข้าไปลงทุนธุรกิจปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย 1 พันเฮกตาร์ แต่ประสบปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากปัญหาคุณภาพดินไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก ซึ่งขณะนี้ได้ให้ที่ปรึกษาทางการเงินทำการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อพิจารณาว่าจะต้องบริหารจัดการอย่างไร หรือตัดขายออกไป เช่นเดียวกับท่อก๊าซฯ ในอียิปต์ที่อยู่ระหว่างการประเมิน เนื่องจากมีความเสี่ยงท่อก๊าซฯ ต้นทางโดนระเบิด และปริมาณก๊าซฯ ผ่านท่อไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐบาลอียิปต์ เพราะประชาชนในอียิปต์คัดค้านการส่งขายก๊าซฯ ราคาถูกให้อิสราเอล
อย่างไรก็ตาม ปตท.ยังให้ความสำคัญในการลงทุนโครงการต่างๆ ในต่างประเทศ โดยงบการลงทุนของ ปตท. 5 ปีข้างหน้าใช้เงินลงทุน 3.26 แสนล้านบาท โดยกึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนในต่างประเทศผ่านบริษัทลูกและลงทุนเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสวงหาโอกาสสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กลุ่ม ปตท.
สำหรับธุรกิจเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียนั้น คาดว่าราคาจะทรงตัวอยู่ที่ตันละ 70-75 เหรียญสหรัฐ ทำให้บริษัทยังคงเป้าหมายที่จะผลิตและจำหน่ายถ่านหินใกล้เคียงปีที่แล้ว 11 ล้านตัน และหันไปลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายอื่นแทน เช่น การปิดสำนักงานที่ออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันธุรกิจเหมืองถ่านหินยังมีกำไรอยู่ แต่ลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาที่อ่อนตัวลงและตัดค่าเสื่อมทิ่เพิ่มขึ้น
นายพิจินต์กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ ปตท.ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 2.97 ล้านล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 2.84 ล้านล้านบาท บนพื้นฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 105 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) ใกล้เคียงปีก่อนอยู่ที่ระดับ 3% เนื่องจากปีนี้ ปตท.ยังต้องรับภาระการขาดทุนจากธุรกิจก๊าซหุงต้ม (LPG) และก๊าซธรรมชาติเหลวสำหรับยานยนต์ (NGV) ใกล้เคียงปีทึ่แล้วระดับ 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการขาดทุน NGV 2 หมื่นล้าน และ LPG 1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ปตท.พยายามลดการขาดทุนจากธุรกิจ NGV ลง โดยหยุดขยายสถานีบริการก๊าซNGV นอกเส้นแนวท่อก๊าซฯ เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งก๊าซ NGV พร้อมทั้งดึงบริษัทขนส่งที่มีรถขนาดใหญ่จำนวนมากให้ลงทุนทำปั๊ม NGV เองเพื่อสะดวกในการวิ่งรถหลายรอบ โดย ปตท.จะขายก๊าซ NGV ในราคาที่สูงกว่า 10.50 บาท/กก.
รวมทั้งเจรจากับภาครัฐเพื่อขอให้มีการขึ้นราคา NGV สำหรับภาคขนส่งต่อเนื่องจากที่เคยขึ้นราคาเดือนละ 50 สต./กก.แล้วได้หยุดไปเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ ปตท.ต้องแบกรับภาระการขาดทุน กก.ละ 5.50 บาท และเชื่อว่ารัฐบาลจะเดินหน้าการปรับขึ้นราคา LPG ภาคครัวเรือนเดือนละ 50 สต./กก.ต่อเนื่องแม้ว่าจะสิ้นสุดระยะเวลา 12 เดือนในสิ้น ส.ค. 2557 ทั้งนี้เพื่อให้ราคาจำหน่าย LPG ใกล้เคียงตลาดโลก หากรัฐไม่มีการจัดเก็บเพิ่ม เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ประเทศเพื่อนบ้านก็จะหันมาใช้ LPG จากไทย ทำให้ต้องสูญเสียภาษีในการอุดหนุนราคามากยิ่งขึ้น
ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติในปีนี้คาดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจการกลั่นน้ำมันในปีนี้ดีขึ้นจากปีก่อน รวมทั้งธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ที่ยังมีมาร์จิ้นระดับสูงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว รวมทั้งธุรกิจนอนออยล์ (Non Oil ) เช่นร้านคาเฟ่ อเมซอนก็สร้างรายได้และกำไรดีต่อเนื่องหลังจากมีการขยายแฟรนไชส์ ส่วนการเพิ่มสถานีบริการน้ำมันในประเทศนั้น ปตท.ไม่มีนโยบายที่จะเพิ่มขึ้น แต่หันไปลงทุนสร้างสถานีบริการน้ำมันในประเทศเพื่อนบ้านแทน โดยตั้งเป้าปี 2558 จะมีปั๊มน้ำมันให้ครบ 300 แห่งจากปัจจุบันมีอยู่ 100 แห่งในฟิลิปปินส์ ลาว และกัมพูชา เป็นต้น
นายพิจินต์กล่าวถึงความคืบหน้าการนำธุรกิจไฟฟ้า คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า คงต้องเลื่อนการนำบริษัท GPSC เข้าตลาดหุ้นเป็นครึ่งปีหลังจากเดิมในกลางปีนี้ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ไม่เอื้อต่อการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับการนำบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) เข้าตลาดหุ้นในครึ่งปีหลังนี้ โดย ปตท.จะขายหุ้นที่ถืออยู่ใน SPRC ทั้งหมด 36%ออกไป
ทั้งนี้ ธุรกิจไฟฟ้ายังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมากโดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ ลาว ขณะที่ไทยจะเน้นการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ซึ่งบริษัท GPSC ตั้งเป้าหมายการผลิตอยู่ที่ 6 พันเมกะวัตต์ในปี 2563 จากปัจจุบันผลิตอยู่ 2.3 พันเมกะวัตต์
นอกจากนี้ ในครึ่งหลังปี 2557 ปตท.มีแผนจะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 1.8 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมีเงินสดในมืออยู่ 6-7 หมื่นล้านบาท