xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.ตื่นคุมเข้มรถร่วมฯ ล้อมคอกหลังเกิดอุบัติเหตุถี่ รับปัญหาเพียบ” ขาดคนขับ-ต้นทุนสูง” ยังแก้ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขสมก.จับเข่าคุยรถร่วมฯ กำชับเข้มมาตรการตรวจสอบสภาพรถและคนขับหลังอุบัติเหตุถี่ ยอมรับสาเหตุปัญหาเพราะขาดแคลนคนขับรถ และเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุน “นเรศ” ยันต้องเพิ่มความเข้มข้นการตรวจสอบทั้งรถและพฤติกรรมพนักงานต่อไป ด้านรถร่วมฯ วอนเห็นใจ ชี้ขาดทุนเพราะเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุน มาตรการรถเมล์ฟรี ขอรัฐอุดหนุนเหมือน ขสมก.เพื่อยกระดับบริการ

นายนเรศ บุญเปี่ยม รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและรักษาการผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการ ขสมก. 23 ราย วันนี้ (10 มี.ค.) ว่า จากกรณีที่รถร่วมเอกชนฯ เกิดอุบัติเหตุบ่อยในช่วงที่ผ่านมา ทั้งกรณีสาย 8 และ ปอ.38 และมีการสอบถามเข้ามาถึงการกำกับดูแลของ ขสมก.และมาตรฐานการให้บริการของผู้ประกอบการรถร่วมฯ ซึ่งยืนยันว่า ขสมก.มีมาตรการในการตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการทั้งรถของ ขสมก.และรถร่วมฯ เอกชน อย่างต่อเนื่อง โดยมีการตรวจสภาพรถปีละ 2 ครั้ง และตรวจโดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ปีละ 2 ครั้ง นอกเหนือจากการตรวจสภาพรถตามตารางคู่มือ รวมถึงตรวจสภาพรถและพนักงานประจำรถ (คนขับและพนักงานเก็บค่าโดยสาร) ก่อนออกจากท่าทุกครั้ง ซึ่งเป็นมาตรการที่สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนได้ระดับหนึ่งแล้ว โดยหลังจากนี้จะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยจะสำรวจความพึงพอใจในการให้บริการของประชาชนและหากพบว่ามีพนักงานขับรถหรือเก็บค่าโดยสารคนใดมีประชาชนไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่มากกว่า 10% จะมีการติดตามทั้งจากนายตรวจ สายตรวจพิเศษ และนายท่าเป็นกรณีพิเศษ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารถสาย 8 ถูกร้องเรียนมากที่สุด ซึ่ง ขสมก.ได้ติดตั้งกล่องรับร้องเรียนจากผู้โดยสารในรถทุกคัน และต่อไปจะดำเนินการที่รถสาย 44 ซึ่งถูกร้องเรียนเป็นอันดับที่ 2 ส่วนกรณีรถสาย 8 ที่เกิดเหตุนั้น คนขับได้ยอมรับความผิดและแสดงความรับผิดชอบแล้วแต่เมื่อจะเลื่อนรถออกจากที่เกิดเหตุมีการเฉี่ยวกันอีกรอบ ภาพที่ออกมาจึงเหมือนการเอาคืน โดยกรณีนี้ ขบ.ปรับคนขับ 1,500 บาท ขสมก.ปรับอีก 2,000 บาท สั่งงดขับรถ 5 วัน และสั่งพักรถคันเกิดเหตุ 5 วัน ส่วนสาย ปอ.38 อยู่ระหว่างการหาสาเหตุ ว่าเกิดจากปัญหาระบบเบรกหรือความประมาทเลินเล่อของคนขับที่วางขวดน้ำไว้จนขัดกับคันเบรกทำให้เบรกไม่อยู่ โดยส่งรถไปตรวจสภาพ ส่วนการลงโทษ ปรับคนขับ 2,000 บาท พักรถคันเกิดเหตุ 10 วัน

นายนเรศกล่าวยอมรับว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาคือต้นทุนของรถร่วมฯ สูงกว่าค่าโดยสารที่เก็บจริง แต่ในฐานะที่ ขสมก.เป็นผู้กำกับดูแลยืนยันว่าจะต้องส่งมอบบริการที่ดีได้มาตรฐานให้แก่ประชาชน ซึ่งแม้จะดำเนินการตามมาตรการมาต่อเนื่องแต่ก็ถือว่ายังมีช่องโหว่ทำให้อุบติเหตุเกิดขึ้นอยู่ จะต้องพยายามแก้ไข เช่น การทบทวนกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการทำงาน อุปกรณ์การตรวจสอบ ซึ่งจะจัดหาเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่มีระบบพิมพ์รายงานผลเพิ่มเติม รวมถึงปรับปรุงคุณภาพการคัดเลือกพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารที่เข้มข้นมากขึ้น และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัญหาการขาดแคลนพนักงานขับรถนั้น ขสมก.จะรับข้อเสนอของรถร่วมฯ ไปหารือกับ ขบ.กรณีกำหนดให้ทำใบขับขี่รถสาธารณะได้เมื่ออายุ 23 ปี แต่กำหนดให้พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะได้ต้องมีอายุ 25 ปี ซึ่งข้อกฎหมายขัดแย้งกัน โดยปัจจุบันรถร่วมฯ วิ่งให้บริการได้เพียง 60% จากรถที่มีทั้งหมด ส่วน ขสมก.ขาดพนักงานขับรถประมาณ 20% และขาดพนักงานเก็บค่าโดยสารถึง 400คนเพราะไม่ได้รับเพิ่มมาตั้งแต่ปี 2550 เนื่องจากรอโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV ที่จะมีระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ

นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน มีการตรวจสอบสภาพรถและพนักงานตามระเบียบและก่อนออกจากอู่ทุกครั้ง เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะจะยิ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันรายได้รถร้อนเฉลี่ยวันละ 3,000 กว่าบาทไม่คุ้มกับต้นทุนจริง ซึ่ง ขบ.ได้ศึกษาว่าค่าโดยสารรถร้อนควรอยู่ที่ 9.61 บาทแต่เก็บจริงที่ 8 บาท ทำให้สามารถจ่ายค่าจ้างพนักงานขับรถได้เฉลี่ย 15,000 บาทต่อเดือน พนักงานเก็บค่าโดยสาร 12,000 บาทเท่านั้น ขณะที่การขับรถเมล์เป็นงานหนักกว่าอาชีพอื่นทำให้ขาดแคลนคนขับรถอย่างมาก จึงอยากขอความเห็นใจประชาชนให้เข้าใจปัญหา และเห็นใจผู้ประกอบการด้วย

นอกจากนี้ รถร่วมฯ ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการรถเมล์ฟรี ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยเมื่อปี 2551 ผู้ประกอบการฯ ได้เสนอขอให้รัฐบาลรับรถร่วมฯ เข้าโครงการด้วย ซึ่งจะทำให้มีรถเมล์ฟรีบริการประชาชนถึง 2,000 คัน โดยขออุดหนุนรถร้อน 6,000 บาทต่อวันต่อคัน รถปรับอากาศ 7,500 บาทต่อวันต่อคัน แต่รัฐบาลอ้างว่าเป็นมาตรการระยะสั้น แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เลิกมาตรการ ทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนมาก ซึ่งหากรัฐบาลรับรถร่วมเข้าโครงการหรือจัดเข้าระบบเหมือน ขสมก. โดยอุดหนุนรายได้ให้คุ้มกับต้นทุน เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการและธุรกิจจะอยู่ได้ ขณะที่รัฐสามารถกำหนดค่าโดยสารที่ต่ำเพื่อดูแลประชาชนได้ โดยได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น