ขสมก.ชงบอร์ด5 มีนาคมขอต่ออายุรถเมล์อีก 1 เดือน เหตุ ครม.รักษาการหวั่นขัด รธน.เลี่ยงเสนอต่ออายุเป็นรายเดือน เร่งเสนอ ครม.และ กกต.พิจารณา คาดทันก่อนหมดอายุ 31 มี.ค.นี้ ส่วนชัตดาวน์กรุงเทพฯ 47 วัน สูญรายได้ 94 ล้านบาท เผยยุบเวทีคืนพื้นที่เหลือเดินรถไม่ปกติแค่ 21 เส้นทาง จ่อชง รบ.ชดเชยรายได้ ด้านรถร่วมฯ อ่วมผู้โดยสารลดวันละ 2.3 แสนคน
นายนเรศ บุญเปี่ยม รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและรักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 5 มีนาคมนี้จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. ที่มีนายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน พิจารณาต่ออายุโครงการรถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคม 2557 ออกไปอีก 1 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 เมษายน 2557 จำนวน 800 คัน วงเงินอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ให้ ขสมก.ประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ขัดแย้งต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 หลังจากที่ได้มีการเสนอแนวทางการต่ออายุรถเมล์ฟรีรถไฟฟรีไปแล้ว โดยเบื้องต้นระบุจะมีการพิจารณาให้เป็นคราวๆ ไป คราวละ 1 เดือน ซึ่งหลัง ครม.อนุมัติแล้วจะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาด้วย โดยจะพยายามให้เรียบร้อยก่อนโครงการหมดอายุวันที่ 31 มีนาคม
ทั้งนี้ จากการชุมนุมทางการเมืองและมีการปิดถนนในหลายพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2557 รวม 47 วัน ทำให้รถ ขสมก.ได้รับผลกระทบรวม 41 เส้นทาง โดยมีรถวิ่งให้บริการน้อยลงกว่าปกติ 202 คัน หรือลดลงประมาณ 7.46% มีผู้โดยสารลดลง 8.3 ล้านคน หรือประมาณ 11.50% ส่งผลให้รายได้ลดลงรวม 94 ล้านบาท หรือประมาณ 20.77% ส่วนรถเอกชนร่วมบริการได้รับผลกระทบ 42 เส้นทาง โดยมีรถให้บริการ 2,700 คันตามปกติแต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุม ส่งผลให้ผู้โดยสารลดลง 2.3 แสนคนต่อวัน หรือประมาณ 5% จากปกติที่มีผู้โดยสาร 1.2 ล้านคนต่อวัน โดยรายได้ลดลงประมาณ 15%
ส่วนกรณีที่กลุ่ม กปปส.คืนพื้นที่โดยยุบเวทีไปรวมอยู่ที่สวนลุมฯ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2557 นั้น ทำให้ ขสมก.สามารถเดินรถให้บริการได้ตามปกติเพิ่มอีก 20 เส้นทาง เหลืออีก 21 เส้นทางที่ยังได้รับผลกระทบ โดยมีรถกลับเข้ามาวิ่งให้บริการอีก 135 คันต่อวัน รวมมีรถให้บริการ 2,640 คันต่อวัน เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้บริการรถเมล์ตามปกติและทำให้รายได้ของ ขสมก.กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
“รายได้ที่หายไป 94 ล้านบาทกระทบในเรื่องสภาพคล่องทำให้เงินสดขาดมือ จึงต้องปรับแผนค่าใช้จ่ายบางเรื่อง เช่น จากเดิมที่จ่ายค่าก๊าซเป็นเงินสด 20 ล้านบาท/วัน เป็นการขอกู้เงินมาจ่ายแทน รวมถึงจะต้องทำแผนการกู้เงินเพิ่มเพื่อชำระหนี้บางส่วนด้วย ซึ่งผลกระทบที่ ขสมก.ได้รับในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง จะทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมให้ฝ่ายนโยบายรับทราบและพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป รวมถึงผลกระทบในส่วนของรถร่วมบริการเอกชนด้วย โดยปัจจุบัน ขสมก.ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐในโครงการรถเมล์ฟรีและรถบริการเชิงสังคม (PSO) รถร้อนจำนวน 1,500 คัน วงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปีอยู่แล้ว” นายนเรศกล่าว