ขสมก.โอด ปิดถนนชัตดาวน์กรุงเทพฯ ทำรายได้ลดเฉลี่ยวันละ 3 ล้านบาท จ่อขอชดเชยรัฐบาล ส่วนรถร่วมเอกชนลดวันละ 1 ล้านบาท ห่วงห้าแยกลาดพร้าวและอนุสาวรีย์ชัย ชี้เป็นจุดเชื่อมการเดินทางสำคัญ แต่รถวิ่งส่งผู้โดยสารไม่ได้ ส่วนทางด่วนโล่ง รถหาย 50% เหลือวิ่งวันละ 7 แสนคัน การท่าเรือฯ ยันให้บริการตามปกติ
นายนเรศ บุญเปี่ยม รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า จากการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของกลุ่ม กปปส.ทำให้ต้องมีการปรับเส้นทางเดินรถ ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการรถเมล์และรายได้ (ค่าโดยสาร คูปอง ตั๋วนักเรียนตั๋วล่วงหน้า) ลดลงจากปกติที่มีผู้ใช้บริการประมาณ 1.53 ล้านคนต่อวัน รายได้ประมาณ 9.6 ล้านบาทต่อวัน โดยวันที่ 13 มกราคมมีผู้ใช้บริการที่ 1.31 ล้านคน รายได้ลดลง 3.05 ล้านบาท (31.73%) วันที่ 14 มกราคม มีผู้ใช้บริการ 1.35 ล้านคน รายได้ลดลง 2.36 ล้านบาท (24.61%) ส่วนผู้ประกอบการถร่วมเอกชนในช่วง 2 วันดังกล่าวมีผู้ใช้บริการลดลงประมาณ 40% รายได้ลดลงประมาณ 1 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งจะต้องมีการประเมินตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้ง
ทั้งนี้ รายได้ที่ลดลงจะกระทบต่อกระแสเงินสดของ ขสมก.แน่นอน ซึ่งจะต้องวางแผนการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้ที่เกิดขึ้นจริง เช่น การปรับลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการพิจารณาเรื่องการชำระหนี้ และหลังเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติจะต้องรวบรวมตัวเลขรายได้ที่สูญเสียไปนำเสนอรัฐบาลเพื่อขอรับการอุดหนุนชดเชยต่อไป ซึ่งคาดว่าในส่วนของรถร่วมบริการคงจะเสนอขอรับความช่วยเหลือเข้ามาเช่นกัน
นายนเรศกล่าวว่า ปัจจุบัน ขสมก.มีหน้าที่ในการจัดรถเพื่อบริการประชาชนให้เพียงพอ ซึ่งเป็นห่วง 2 จุดใหญ่ที่ปิดการจราจร คือ ห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งเป็นจุดที่รับการเดินทางจากชานเมืองเพื่อเข้าไปเมืองจาก 4 ทิศทาง คือ ถนนลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนรัชดาภิเษก รวมถึงเป็นจุดที่ต่อเชื่อมกับระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีจตุจักรและ BTS ที่สถานีหมอชิต ซี่งเชื่อมการเดินทางไปสู่ฝั่งธนบุรีได้อีกด้วย โดย ขสมก.ได้ปรับการเดินรถไปทางรัชวิภา-ถนนกำแพงเพชร 6-พหลโยธิน-รถไฟฟ้าที่จตุจักร แล้ววนกลับ อีกจุดคือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งมีรถเมล์ประมาณ 30 สาย ผู้ใช้บริการประมาณ 3 แสนคนต่อวัน ซึ่งวิ่งเข้าไม่ได้
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมได้ปรับลดจุดจอดรถ (Park&Ride) เหลือ 11 จุด จากเดิม 41 จุดในพื้นที่ 5 โซน เนื่องจากมีผู้ใช้น้อยเพราะประชาชนเลือกเดินทางในเส้นทางปกติและบริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยพบว่าผู้มาใช้บริการจอดรถส่วนใหญ่เป็นผู้มาร่วมชุมนุม ซึ่ง ขสมก.ปรับรถ Shuttel Bus ให้เหมาะสมตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมเป็นต้นไป ส่วนบริการ Call Center 1348 สอบถามเส้นทางและแนะนำบริการ ขสมก.นั้น มีผู้ใช้บริการในช่วงวันที่ 13-14 มกราคมเพิ่มขึ้นจากปกติ 110%
ทางด่วนโล่งปริมาณลด 50%
นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แถลงผลกระทบจากกรณีผู้ชุมนุม กปปส.ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ปิดถนนตั้งเวที 7 จุด และอีก 2 จุดย่อย รวม 9 จุด ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ผ่านสถานการณ์การชัตดาวน์กรุงเทพฯ เข้าสู่วันที่ 3 แล้ว พบว่าปริมาณการจราจรบนทางด่วนในภาพรวมลดลงครึ่งหนึ่งจากวันปกติ เหลืออยู่ที่ 7 แสนเที่ยว/วัน หรือคิดเป็น 51% ของปริมาณการจราจรวันปกติเฉลี่ยวันละ 1.2 ล้านเที่ยว โดยเส้นทางในเขตเมืองทั้งด่วนขั้นที่ 1 ด่วนขั้นที่ 2 ที่อยู่ใกล้พื้นที่ชุมนุม สำหรับสาเหตุที่ทำให้ปริมาณการจราจรลดลงยังไม่สามารถคาดกาณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่ายังอยู่ในสถานการณ์ปกติ ทางพิเศษสามารถให้บริการได้เป็นปกติในทุกด่านทุกเส้นทาง ยังไม่มีการปิดด่านที่จุดใด และหากมีสถานการณ์ที่จำเป็นจะต้องปิดให้บริการในบางจุดจะรีบแจ้งให้ประชาชนทราบในทันที ซึ่งประชาชนโทร.สอบถามเส้นทางการจราจรบนทางด่วนทุกเส้นทางได้ที่ โทร. 1543 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายอัยยณัฐกล่าวต่อว่า สำหรับที่ผู้ชุมนุมขึ้นทางพิเศษเดินทางไปในจุดชุมนุมก็มีการจ่ายค่าผ่านทางตามปกติไม่มีการแหกด่าน ยกเว้นกรณีกลุ่มจักรยานยนต์ของสหภาพฯ การไฟฟ้าฯ ที่ขึ้นจากด่านสุขุมวิทมาลงที่ด่านดินแดง ที่ตามปกติจะไม่อนุญาตให้รถจักรยานยนต์ขึ้นใช้ทางพิเศษ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ที่ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น คาดว่าน่าจะเป็นการแหกด่านขึ้นมา จะต้องมีการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เพื่อเตรียมมาตรการในการป้องกันต่อไป
การท่าเรือฯ ยืนยันให้บริการตามปกติ
การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) แจ้งว่า การให้บริการยังเป็นไปตามปกติแม้จะมีการชุมนุมในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ หากยังมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2269-5189, 08-9257-1914, 08-9480-7226, 08-1984-4225 และ 08-1346-4912