xs
xsm
sm
md
lg

สนข.นำร่องเส้นทางจักรยาน-ทางเดินเท้า ใช้ได้จริงเชื่อมระบบขนส่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.ศึกษาแผนแม่บท เส้นทางจักรยาน และทางเดินเท้าเชื่อมต่อระบบขนส่ง ใช้งบ 18 ล้านจากกองทุนพลังงาน ผุดโครงการนำร่องใน กทม.3 จุด ต่างจังหวัด 1 แห่ง ภายในปลายปีนี้ เน้นเส้นทางที่ใช้ในชีวิตประจำวันลดการใช้พลังงาน บูรณาการทุกหน่วยร่วมมือปรับปรุงกายภาพรองรับ
 
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorized Transport : NMT) และการปรับปรุงการเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการขนส่งอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วันนี้ (6 มี.ค.) ว่า การศึกษาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 18 ล้านบาท จากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยใช้ระยะเวลาศึกษา 1 ปีกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 11 ธันวาคม 2557 โดยการศึกษาจะเน้นการออกแบบการเดินทางด้วยเท้าและจักรยาน ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางที่ไม่ใช่เครื่องยนต์ที่ทั่วโลกนิยมสำหรับในเขตเมือง โดยจะจัดทำเป็นแผนแม่บททางจักรยานและทางเท้าและจุดจอดจักรยาน เบื้องต้นนำร่อง 3 จุดในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และในภูมิภาค 1 จังหวัดเป็นเมืองจักรยาน โดยเน้นเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน เชื่อมต่อการขนส่งสาธารณะโหมดต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างจาก กทม.ที่ทำทางจักรยานเน้นการท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ ในการศึกษาช่วงแรกต้องสำรวจความต้องการในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ก่อน เพื่อกำหนดเส้นทางและคาดการณ์จำนวนผู้ที่ใช้ และนำข้อมูลมาออกแบบรายละเอียดซึ่ง 3 จุดใน กทม.นั้น ที่ปรึกษาจะเสนอจาก 10 จุดให้คณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งอาจจะเป็นนำร่องเส้นทางเดินเท้า 1 จุด เส้นทางจักรยานอีก 1-2 จุด โดยต้องไม่ซ้ำซ้อนกับเส้นทางของกทม.เน้นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าและท่าเรือต่างๆ ส่วนภูมิภาคเลือก 1 เมือง จาก 3 เมืองที่เสนอ ซึ่งเบื้องต้นมองไว้หลายจังหวัด ทั้ง จ.น่าน, พิษณุโลก, เกาะสมุย โดยพื้นที่นำร่องควรเป็นพื้นที่ที่จะมีการใช้การเดินทางด้วยจักรยาน หรือการเดินเท้าในชีวิตประจำวันจริง และท้องถิ่นหรือจังหวัดมีความพร้อมในการร่วมมือสนับสนุน รวมถึงต้องดูสภาพอากาศของเมืองควรมีความเหมาะสมด้วย

นายพีระพลกล่าวว่า ในการจัดทำแผนแม่บททางจักรยานในกรุงเทพฯ จะมีการจัดทำเป็นภาพรวม โดยจะรวมทางจักรยานที่ กทม.เข้าในแผนแม่บทด้วย เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน ซึ่งหลังจากจัดทำแผนแม่บทเสร็จสิ้น จะทราบว่าควรมีทางจักรยาน หรือทางเท้าเพิ่มขึ้นที่จุดใด และอยู่ในพื้นที่ของหน่วยงานใด และกำหนดงบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่และถนน จากนั้นจะมอบหมายให้เจ้าของพื้นที่รับผิดชอบดำเนินการ และเมื่อเริ่มโครงการแล้ว ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันบังคับใช้ให้ทางจักรยานสามารถใช้ได้จริง ไม่ถูกใช้เป็นที่จอดรถหรือที่วางของขาย โดยจะมีการจัดรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 ในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งจะมีความชัดเจนของโครงการทั้งพื้นที่นำร่อง และรูปแบบการของเส้นทางในแต่ละพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ในการสัมมนาครั้งแรกมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กรุงเทพมหานคร และเทศบาลเมืองต่างๆ เข้าร่วมประชุม จุดประสงค์เพื่อลดการใช้พลังงาน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิต ความเท่าเทียมปลอดภัยในการเดินทาง
กำลังโหลดความคิดเห็น