หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีมติอนุมัติโครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท รวมค่าซ่อมบำรุง 10 ปี วงเงินประมาณ 13,858.408 ล้านบาท มูลค่าทั้งโครงการ 27,020.608 ล้านบาท ได้มีความพยายามเร่งรัดการประมูลด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) หวังจะรวบรัดตัดตอน แต่ทันทีที่เปิดร่างTOR ลงเว็บไซต์ ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า กระบวนการล็อกสเปกถูกวางไว้นานแล้วนั้น...เป็นจริง
ซึ่งในแวดวงผู้ประกอบการอู่ต่อรถโดยสารภายในประเทศยืนยันว่าเงื่อนไข TOR ที่ ขสมก.ประกาศ โดยแบ่งประมูลรถโดยสารธรรมดาจํานวน 1,659 คัน ราคากลางที่กำหนดรถร้อน 3.8 ล้านบาท/คัน รถโดยสารปรับอากาศจํานวน 1,524 คัน ราคากลาง 4.5 ล้านบาท/คัน นั้นมีการล็อกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ค่ายรถจากจีนรับออเดอร์รถปรับอากาศไป ส่วนรถร้อนจะเป็นของค่ายรถญี่ปุ่นที่จะได้แบบเหมาเข่งจัดสรรกันไว้ตั้งแต่แรก และที่สำคัญสเปกรถร้อนที่ล็อกเพื่อเอื้อค่ายรถญี่ปุ่นรายนั้น ในวงการอู่ต่อรถรู้กันแล้วว่าจะใช้แชสซีส์รถบรรทุกมาดัดแปลงทำเพื่อให้เหลือส่วนต่างเป็นเงินทอนมากที่สุด เพื่อจ่ายให้กลุ่มอำนาจที่อนุมัติโครงการนี้นั่นเอง
“เพราะบริษัทรถค่ายญี่ปุ่นได้เข้าติดต่ออู่ต่อรถในไทยให้ทำการดัดแปลงแชสซีส์รถบรรทุก ใช้ CNG เป็นรถโดยสาร ในแวดวงรู้กันหมด ปิดบังไม่ได้หรอก และที่อู่รถส่วนใหญ่ไม่รับงานทั้งๆ ที่กำไรก้อนใหญ่กองตรงหน้า เพราะรู้ดีว่าถ้าใช้แชสซีส์รถบรรทุกมาดัดแปลงอาจจะมีปัญหาความปลอดภัย แม้หลายคนจะมองข้ามเรื่องนี้โดยอ้างว่ารถเมล์วิ่งใน กทม.ไม่เร็วมากอุบัติเหตุไม่รุนแรง...แต่นี่คือชีวิตคนกว่า 5 ล้านคนที่ใช้บริการ”
ด้านอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดศึกษาเฝ้าระวังโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คัน ที่มีนายไพโรจน์ วงศ์วิภานันท์ เป็นประธาน ได้เปิดเผยข้อมูลหลังตรวจสอบพบความไม่ถูกต้องในการประมูลหลายเรื่อง เช่น ราคากลางรถร้อน 3.8 ล้านบาท/คัน และรถปรับอากาศ 4.5 ล้านบาท/คัน สูงเกินจริง ซึ่ง ขสมก.ยืนยันว่าได้ราคามาจากบริษัทรถซึ่งเป็นราคาขายในแค็ตตาล็อกรวมภาษีและกำไรไปแล้ว จะใช้อ้างอิงเป็นราคากลางไม่ได้ เพราะ ขสมก.กำหนดนำเข้ามาประกอบ ต้องคิดราคากลางแยกชิ้น เสียภาษีอัตราต่ำกว่านำเข้าทั้งคัน
“เรื่องนี้อีกไม่นานอนุฯ ป.ป.ช.คงเปิดเผยราคารถ อัตราภาษี ที่เกี่ยวข้องแบบละเอียดยิบแน่นอน โดยแหล่งข่าวจากอู่ต่อรถรายหนึ่งยืนยันว่า อู่ต่อรถที่แพงที่สุดในประเทศไทยระบุว่า ค่าต่อตัวถังรถร้อนรวมภาษีแล้วจะอยู่ที่ 1 ล้านบาท/คัน รถปรับอากาศรวมแอร์ รวมภาษีแล้วไม่เกิน 1.7 ล้านบาท/คัน ที่เหลือเป็นค่าแชสซีส์ คิดดูว่าแชสซีส์แพงเกินไปหรือไม่”
มาถึงเรื่องสำคัญคือ คนพิการออกมาประท้วง ขอให้ ขสมก.ซื้อรถในโครงการทั้งร้อนและแอร์แบบเดียวกันคือเป็นรถแบบไม่มีบันได (Low Floor) และมีอุปกรณ์ทางลาดสำหรับผู้พิการที่ใช้ Whell Chair ซึ่งคนพิการยืนยันว่าไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนอีกหลายกลุ่ม ทั้งเด็ก คนชรา คนท้อง สาวออฟฟิศใส่กระโปรงสามารถได้ใช้บริการได้ โดยที่คนพิการนำเสนอว่า กรณีที่ ขสมก.กำหนดสเปกรถร้อนว่ามีความสูงถึง 70 ซม.มีบันได 2 ขั้น ซึ่งทำให้ไม่สามารถมีทางลาดรถ Whell Chair ได้นั้นเพราะถนน กทม.ไม่เรียบสม่ำเสมอ รถแบบไม่มีบันไดวิ่งผ่านคอสะพาน 65 จุดไม่ได้ เพราะรถต่ำจะติดใต้ท้องรถ ที่สำคัญที่สุด จะซื้อรถร้อนสเปกนี้ไว้เพื่อวิ่งช่วงที่ กทม.น้ำท่วมด้วย...เป็นการจงใจปิดกั้นการเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2550
เรื่องนี้ทำให้ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแล ขสมก.โดยตรง ต้องออกหน้าสั่งให้ ขสมก.นำข้อเสนอของคนพิการไปทบทวนส่งผลให้การประกาศร่าง TOR ต้องยาวนานถึง 5 ครั้ง และครั้งที่ 6 ยังรออยู่ว่าจะประกาศแบบไหนหรือประกาศได้หรือไม่
ล่าสุด วันที่ 20 ธันวาคม 2556 ขสมก.ได้นำรถจากบริษัท วี อาร์ พี แอดวานซ์ จำกัด แบบไม่มีบันได (Low Floor) ซึ่งให้บริการอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิมาทดสอบ โดยรถมีความสูงจากพื้นถนนถึงพื้นห้องโดยสาร 37 ซม. ทางลาดเป็นอุปกรณ์เสริมติดตั้งอยู่กับตัวรถมื่อต้องการใช้งานก็ดึงออกจากที่เก็บ เมื่อใช้งานเสร็จแล้วก็ดันเก็บเข้าที่เดิม และระดับความลาดชันไม่สูงผู้พิการสามารถเข็นรถ Whell Chair ขึ้นได้เพราะเป็นรถแบบไม่มีบันได ส่วนรถแบบ Semi Low Floor มีบันได1 ขั้น ใช้รถจากรถร่วมบริการ ขสมก.มาสาธิต โดย ขสมก.ได้ดัดแปลงทำแผ่นทางลาดมาวางพาดกับทางเท้าซึ่งมีความลาดชันมารถ Whell Chair ขึ้นลงไม่สะดวก
ซึ่ง พล.อ.พฤณท์กล่าวว่า การสาธิตทำให้เห็นว่ารถ Whell Chair จะใช้รถเมล์แบบไม่มีบันได Low Floor ได้ แต่แบบ Semi Low Floor ไม่สะดวก แต่การจะซื้อรถไม่มีบันไดทั้งร้อนและปรับอากาศ 3,183 คันทำไม่ได้ด้วย 2 เหตุผล คือ ความสูงของรถไม่มีบันไดพื้นต่ำวิ่งไม่ได้บนถนน กทม.เพราะจะติดสะพานถึง 65 จุด และราคาจะเกินงบ 1.3 หมื่นล้านบาทที่ได้รับอนุมัติ เห็นทีคงจะต้องใช้สเปกเดิมเพื่อเดินหน้าโครงการ ส่วนคนพิการจะตั้งโครงการใหม่ให้เป็นการเฉพาะ คนพิการมีแค่ 4 หมื่นคน จะให้คนอีก 5 ล้านรอใช้บริการคงไม่ได้
โดยลืมไปว่า ข้อเรียกร้องของคนพิการที่ขอรถแบบไม่มีบันได้ก้าวขึ้น-ลงสบายๆ นั้นครอบคลุมไปถึงเด็ก คนแก่ คนท้อง สาวออฟฟิศ ที่นับรวมกันไม่ใช่ 4 หมื่นแน่นอน
หลังจากนั้น ขสมก.ได้นัดคนพิการเจรจา โดยขอร้องให้คนพิการยินยอมอ้างหารถ Low Floor มาสาธิตให้เห็น ขณะที่คนพิการยืนยันต้องการรถร้อนแบบไม่มีบันได
ประเมินต่อจากนี้ แน่นอน ขสมก.ต้องผลักดัน TOR ครั้งที่ 6 เพื่อประมูลให้ได้ ส่วนคนพิการหากยอมลดข้อเสนอ รถร้อนเป็นแบบ Semi Low Floor มีบันได 1 ขั้นได้ ก็เท่ากับฮั้วค่ายรถญี่ปุ่นได้เหมาเข่งรถร้อนทำไม่ได้ เพราะที่จะใช้แชสซีส์รถบรรทุกมาดัดแปลงเป็นรถโดยสาร บันได 3 ขั้นทำไม่ได้แล้ว ยังไงก็ต้องเป็นแชสซีส์รถโดยสารแท้ๆ อย่างน้อยสเปกนี้ก็ปลอดภัย ฮั้วแตก..แล้วที่ว่ากันว่าวางเงินที่มัดจำกันไปแล้วก้อนหนึ่งจะทำอย่างไร?
ส่วนข้ออ้างรถไม่มีบันไดจะวิ่งผ่านสะพาน 65 จุดไม่ได้ ที่สุด ขสมก.ยอมรับเองว่าแค่การคาดเดา ไม่เคยทดสอบจริง ดังนั้นเมื่อสอบถามไปยังสำนักงานโยธา กทม.ระบุว่า อัตราส่วนความลาดชันของสะพานใน กทม.อยู่ที่ 1 ต่อ 12 หรือ 4 องศา 45 ลิปดา น้อยกว่าสเปกรถที่ ขสมก.กำหนด ที่ 1 ต่อ 8 และรถไม่มีบันได (Low Floor) มาตรฐานรถโดยสารแท้ๆ มุมเงย องศาจากล้อหน้าถึงชายล่างกันชนหน้าอยู่ที่ 8% มุมจากองศาล้อหลังถึงชายล่างกันชนหลังอยู่ที่ 10% วิ่งได้แน่นอน ซึ่งถ้าพิสูจน์แล้ววิ่งผ่านไม่ได้ กทม.พร้อมปรับปรุง เรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหาพื้นฐานตามที่ ขสมก.ยกมาอ้าง
จะเห็นว่า โครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คันของ ขสมก.เป็นโครงการใหญ่ วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท แต่ ขสมก.กลับไม่มีข้อมูลรายละเอียดราคา ขาดความรู้ทางเทคนิคอย่างมาก เหตุนี้จึงตั้งธงว่าต้องประมูลอี-ออกชันเพื่อเลี่ยงการกำหนดรายละเอียด ที่สำคัญง่ายที่จะเปิดกว้างในการยื่นข้อเสนอ...ง่ายต่อการเอื้อให้รายใดรายหนึ่งออก TOR หลอกลวง ดูถูกคนไทย แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจ หวังส่วนต่างเงินทอน จึงวางแผนล็อกสเปกกันแบบหน้าไม่อาย...