xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : “เวลา” เครื่องวัดคุณค่าของชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในการประกอบสัมมาชีพ ทำงานเพื่อแสวงหาปัจจัยเครื่องดำรงชีวิตของคนเรานั้น พระพุทธศาสนาเริ่มต้นจากการสอนให้คนตระหนักถึงคุณค่าของเวลา เพราะเวลานั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้จากธรรมชาติเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในปราสาทราชวังหรืออยู่ในสลัมก็ตาม

โดยหลักทั่วๆไปแล้ว คนเราใช้เวลาของตนไม่เหมือนกัน ทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันในด้านต่างๆ พระพุทธดำรัสที่ตรัสให้คนเห็นความสำคัญของเวลาเป็นอันมาก เช่น

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าปล่อยขณะให้ผ่านพ้นไป เพราะคนที่ปล่อยขณะให้ผ่านไป ย่อมเศร้าโศกในภายหลัง”
“วัยย่อมผ่านพ้นไปเหมือนขณะนั้นแหละ”
“กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์พร้อมด้วยตัวของมันเอง”


เวลาเป็นเครื่องวัดคุณค่าของชีวิต

กาลเวลาเป็นทรัพยากรเดียวที่ไม่อาจจะเก็บสะสมไว้ได้ เป็นสิ่งที่ผ่านไปเรื่อยๆ ผ่านแล้วก็ผ่านไป ไม่มีใครจะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกได้ ผู้ที่เป็นนักบริหารเวลาที่ดี ก็คือผู้ที่สามารถใช้เวลาทำประโยชน์ให้มากที่สุด ไม่ปล่อยเวลาให้ไปเปล่าโดยมิได้ทำประโยชน์ เพราะเมื่อเวลาช่วงใดผ่านไปโดยมิได้ทำประโยชน์ ก็เท่ากับเป็นการปล่อยให้ชีวิตช่วงนั้นว่างเปล่า ขาดจากประโยชน์ที่ควรจะได้ไป กลายเป็นช่วงชีวิตที่ไร้ค่า และไม่อาจจะย้อนกลับไปเติมความว่างเปล่าไร้ค่านั้นให้เต็มได้

ทรัพยากรทั่วๆไป มนุษย์สามารถจะเก็บสะสมไว้ใช้ประโยชน์ในภายหลังได้ เช่น ก๊าซ หรือแม้แต่พลังงานจากแสงแดด แต่ยังไม่มีใครผู้ใดผู้หนึ่งสามารถเก็บเอาเวลาที่ผ่านมาถึงแล้ว ไว้ใช้ทำประโยชน์ในภายหลังได้เลย กาลเวลาย่อมผ่านไปอย่างสม่ำเสมอและไม่มีการหวนกลับมาอีก

ชีวิตคนมีความสัมพันธ์กับเวลาโดยตลอด เวลาเป็นเครื่องวัดคุณค่าของชีวิต ถ้าเวลาผ่านไปพร้อมกับการทำประโยชน์ ชีวิตก็มีคุณค่า เพราะชีวิตก็เหมือนเครื่องมือเครื่องใช้อย่างหนึ่ง ซึ่งคนเราใช้ทำการต่างๆ เครื่องมือเครื่องใช้ทั้งหลายถ้าเก็บไว้เฉยๆก็หาประโยชน์อะไรไม่ได้ เช่น มีรถที่จอดทิ้งไว้ ก็ไม่มีประโยชน์ เท่ากับไม่มีนั่นเอง ในทำนองเดียวกัน คนเรามีชีวิตแล้ว ไม่ใช้ชีวิตนั้นทำประโยชน์ ก็เหมือนกับไม่มีชีวิตหรือเป็นความว่างเปล่า

คนเกียจคร้านมักมีความคิดว่า การทำงานเป็นความเหน็ดเหนื่อย เป็นความทุกข์ เป็นความลำบาก เป็นความทรมาน เขาจึงชอบที่จะอยู่เฉยๆ ชอบการพักผ่อนซึ่งตนเห็นเป็นความสบาย

แต่ความจริงนั้น การพักผ่อนไม่ยอมทำการงาน กลับมีโทษแก่ชีวิตนั้นเอง เพราะทำให้ร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย เกิดโรคภัยไข้เจ็บติดตามมา ยิ่งเป็นการพักผ่อนในสถานบันเทิงยามราตรีด้วยแล้ว ยิ่งมีแต่โทษนานัปการ ส่วนคนที่ขยันทำการงานจะมีร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว ไม่เจ็บป่วยง่าย

ช่วงชีวิตของคนเรานั้นไม่ยืนยาวสักเท่าใด แม้จะใช้เวลาทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ปล่อยให้เวลาว่าง ก็ยังสร้างประโยชน์ได้ไม่มากนัก อย่าว่าแต่จะสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นเลย แม้แต่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเอง ทำตนเองให้มีหลักฐานอย่างเดียว บางคนยังทำไม่ได้เลย ยิ่งถ้ามัวเกียจคร้าน ไม่ขยันทำงานแล้ว ยิ่งไม่อาจจะพาตนให้ไปสู่ฐานะที่ดีได้อย่างแน่นอน

ดังนั้น หลักพระพุทธศาสนาจึงสอนให้คนเราไม่ควรจะปล่อยวันคืนให้เปล่าประโยชน์ ควรจะทำประโยชน์ไว้เสมอ จะมากหรือน้อยไม่สำคัญ ขอแต่อย่าให้ว่างเท่านั้น

ดังพุทธศาสนสุภาษิตในขุททกนิกาย เถรคาถา (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖) ว่า

“ควรทำวันคืนไม่ให้เปล่าจากประโยชน์น้อยหรือมาก เพราะวันคืนผ่านบุคคลใดไป ชีวิตของบุคคลนั้นย่อมพร่องจากประโยชน์นั้น”

ช่วงเวลาที่ว่างจากการทำงานที่ท่านตำหนิว่า ทำให้ชีวิตพร่องจากประโยชน์นั้น มิใช่เพียงแต่ว่าจะขาดประโยชน์เท่านั้น แต่มักมีโทษเพิ่มเข้ามาด้วย เพราะคนที่อยู่ว่างมักจะมีความคิดฟุ้งซ่าน เพ้อฝัน ซึ่งเรียกว่าอกุศลวิตก คือคิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องกามารมณ์ คิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องพยาบาท และฟุ้งซ่านไปในทางเบียดเบียน

ความคิดฟุ้งซ่านเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นแก่คนขยันหมั่นเพียรในการทำงานเลย ในความเป็นจริง คนขยันมักมีความรู้สึกว่า เวลาไม่พอทำงาน มองเห็นงานมองเห็นสิ่งที่ควรจะทำอยู่มากมาย แม้จะทำตลอดเวลาก็ไม่หมดสิ้น แต่สำหรับคนเกียจคร้านมักคอยจะหาโอกาสอยู่ว่างๆเสมอ

ในทรรศนะของพระพุทธศาสนาแล้ว กาลเวลาเป็นตัวแปรอย่างสำคัญในการจำแนกให้คนเราแตกต่างกัน เพราะปัญหาเรื่องเวลาไม่ได้อยู่ที่ใครมีเวลาเท่าไร แต่อยู่ที่แต่ละคนได้ใช้เวลาชีวิตของตนไปอย่างไรมากกว่า

ใครก็ตามสามารถประกอบภารกิจหรือหน้าที่การงานให้เหมาะสมแก่กาลเวลาที่มาถึงเข้า ความเจริญก้าวหน้าในฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมนั้นๆ ย่อมเกิดขึ้นแก่เขาตามสมควรแก่เหตุ

ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับจังหวะเวลา

อย่างไรก็ตาม ในการทำกิจการต่างๆของคนเรา ย่อมมีช่วงจังหวะของการดำเนินการที่ต่างกัน บางจังหวะเวลาควรทำการอย่างช้าๆ บางจังหวะเวลาก็ควรดำเนินการอย่างรีบด่วน ผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกกับจังหวะเวลา ย่อมทำการผิดพลาด เกิดความเสียหาย และได้รับความเดือดร้อนอย่างเจ็บปวด

ความข้อนี้มีพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวสอนไว้ในคัมภีร์ขุททกนิกาย เถรคาถา (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖) ความว่า

“ผู้ใดย่อมรีบในกาลที่ควรช้า และช้าในกาลที่ควรรีบ ผู้นั้นย่อมเป็นคนเขลาย่อมตกทุกข์ เพราะการจัดทำโดยไม่แยบคาย”

มีคำสอนเป็นสุภาษิตแบบไทยๆ ที่เตือนให้ทำการอย่างช้าๆ ในช่วงจังหวะที่ควรช้า อยู่คำหนึ่งว่า “ช้าๆจะได้พร้าสองเล่มงาม” และอีกคำหนึ่งว่า “อย่าใจเร็ว ด่วนได้ จะวุ่นวาย” ซึ่งเป็นคำสอนที่ดี ควรแก่การพินิจพิจารณา และถือปฏิบัติตามในยามที่ไม่ควรจะรีบร้อน เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานของบริษัท หรือหน่วยงานของเอกชน ซึ่งต้องทำงานตามกำหนดเวลา ในช่วงใกล้จะเลิกงาน เมื่อยังไม่หมดเวลาทำงาน จะรีบด่วนกลับก่อนเวลา อาจมีความผิดเกิดโทษขึ้นได้ ในจังหวะเช่นนั้นจึงควรช้าไว้ก่อน ยับยั้งอยู่ก่อน

หรือในจังหวะที่รับประทานอาหารที่ยังร้อนอยู่ ถ้ารีบร้อนรับประทาน อาจจะเป็นอันตรายได้ หรือผู้ใช้รถบางคนประสบกับเหตุการณ์หม้อน้ำรถแห้งซึ่งเกิดความร้อนมาก เมื่อจะเติมน้ำลงไปใหม่ จำเป็นต้องรอให้เย็นเสียก่อน หากรีบร้อนเติมลงไปทันที อาจเกิดความเสียหายได้ เป็นต้น ในจังหวะเวลาที่ยกตัวอย่างมานี้ จึงควรทำการอย่างช้าๆ

แต่บางจังหวะเวลาก็ต้องการความรีบด่วน รวดเร็ว ทันกาลเวลา เช่น ข้าราชการหรือพนักงานทั่วไป จะต้องรีบไปถึงสถานที่ทำงานตามเวลาที่กำหนด หากมัวชักช้าโอ้เอ้อยู่ ไปถึงที่ทำงานสาย ก็อาจจะมีโทษ หรือในกรณีที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่นั้น เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงาน ก็ควรรีบทำให้เสร็จ โดยเฉพาะเมื่องานนั้นเป็นงานด่วนด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะต้องรีบดำเนินการให้รวดเร็วเป็นพิเศษ หากมัวช้าอยู่ อาจจะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้

ผู้ใดไม่สำเหนียกคำนึงหรือตระหนักในจังหวะเวลาที่เหมาะที่ควร รีบร้อนผลีผลามทำการในกาลที่ควรช้า หรือมัวปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป ไม่รีบทำการในจังหวะที่ควรรีบ ผู้นั้นท่านเรียกว่า “คนเขลา” การจัดการทำของเขา ท่านเรียกว่า “ไม่แยบคาย” คือเป็นการจัดการทำที่ไม่ได้ใช้ความพินิจพิจารณา ไม่ได้ใช้ปัญญาสอดส่องดูความเหมาะความสมควร มักจะทำให้งานเสียหาย ตนเองก็ต้องได้รับการตำหนิหรือถูกลงโทษ ทำให้ได้รับความทุกข์ได้รับความเดือดร้อน

กล่าวในทางเศรษฐกิจ ผู้ทำการโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณา ไม่รู้จังหวะเวลาช้าหรือเร็ว ก็ย่อมพบแต่ความล้มเหลวแน่นอน

ในทำนองเดียวกัน คนฉลาดย่อมรู้ว่าในการปฏิบัติงาน ย่อมมีจังหวะเวลาที่ควรดำเนินการอย่างช้าๆ และมีจังหวะเวลาที่ควรดำเนินอย่างรวดเร็วทันท่วงที เขาจึงใช้สติปัญญาพิจารณาแต่ละจังหวะเวลา ว่าช่วงไหนควรช้าและช่วงไหนควรเร็ว แล้วจัดดำเนินการไปตามความเหมาะสม งานก็จะประสบความเสร็จให้ผลเป็นความสุขความเจริญ

ความข้อนี้ก็มีพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวสอนไว้ในคัมภีร์ขุททกนิกาย เถรคาถา (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖) ต่อเนื่องเช่นกัน ความว่า “ผู้ใดช้าในกาลที่ควรช้า และรีบในกาลที่ควรรีบ ผู้นั้นเป็นคนฉลาด ย่อมถึงสุขเพราะการจัดทำโดยแยบคาย”

ในชีวิตของคนเรานั้น มีจังหวะเวลาที่ควรช้าอยู่มากมาย เช่นในการหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เมื่อถึงจังหวะหนึ่ง ไฟจะตัดโดยอัตโนมัติ แท้จริงข้าวในหม้อยังไม่สุกในจังหวะนั้น แต่ภายในหม้อยังมีความร้อนอยู่มาก และความร้อนนั้นจะทำให้ข้าวสุกระอุได้อย่างดีในอีกหลายนาทีต่อมา คนที่รู้เรื่องดีย่อมจะไม่รีบร้อนเปิดฝาหม้อตักข้าวออกมา แต่จะคอยจนกว่าข้าวจะสุกระอุได้ที่เสียก่อน นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง

อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่นมีธุระจะต้องเข้าไปพบผู้หลักผู้ใหญ่หรือคนสำคัญใดๆ ถ้าเมื่อไปถึงแล้ว ท่านผู้นั้นกำลังมีแขกอยู่หรือกำลังมีงานวุ่นวายอยู่ การจะรีบร้อนพรวดพราดเข้าไปพบท่าน อาจเป็นผลเสีย งานที่มาติดต่ออาจไม่สำเร็จ จึงจำเป็นจะต้องคอยรอดูจนเห็นว่าเป็นจังหวะเหมาะ จึงเข้าพบ โอกาสที่งานจะสำเร็จย่อมมีมากกว่า นี่คือการรู้จักช้าในกาลที่ควรช้า

แต่บางจังหวะก็ควรทำการด้วยความรวดเร็วฉับพลันทันที มีคำพังเพยอยู่ว่า “พายเถิดนะพ่อพาย ตะวันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า” นี่คือจังหวะเวลาที่ควรทำด้วยความรวดเร็ว ในเมื่อจะนำสิ่งของที่อาจเน่าเสียไปขาย จะต้องรีบไปในตอนที่ตลาดยังคึกคัก หรือคำพังเพยที่ว่า “ตีเหล็กเมื่อกำลังร้อน” เพราะถ้าไม่รีบตีแล้ว เหล็กอาจจะเย็นและตีไม่ได้

แม้แต่การจะเดินทางไปในที่ต่างๆ โดยอาศัยบริการขนส่งสาธารณะ เช่น โดยสารรถเมล์ รถไฟ หรือโดยสารเรือ ก็ต้องรีบไปก่อนเวลาที่รถหรือเรือนั้นๆจะผ่านมา-ผ่านไป มิฉะนั้น อาจพลาดการเดินทางได้ ซึ่งเมื่อพลาดแล้วก็จะเสียใจ เสียประโยชน์ที่ควรไปเลยก็มี ดังคำกล่าวที่ว่า

เวลาและวารี
มิมีที่จะคอยใคร
เรือเมล์และรถไฟ
มันก็ไปตามเวลา
โอ้เอ้และอืดอาด
ก็จะพลาดปรารถนา
พลาดแล้วจะโศกา
อนิจจาเราช้าเอง


เรื่องจังหวะเวลาในการทำการต่างๆนี้ ผู้ฉลาดมีสติปัญญาดี ย่อมกำหนดและจัดทำดำเนินการไปตามความเหมาะสม ไม่รีบด่วนในกาลที่ควรช้า และไม่ชักช้าในกาลที่ควรรีบด่วน การงานต่างๆที่ทำย่อมจะประสบความสำเร็จ เกิดประโยชน์โภคผล เกิดความเจริญรุ่งเรือง นับได้ว่าประสบความสุข เพราะได้จัดทำโดยแยบคาย คือทำโดยใช้สติปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบ

การเต้นรำที่ผิดจังหวะยังเกิดความเสียหาย แต่นั่นเป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนการดำเนินงานที่สำคัญ ถ้าผิดจังหวะเวลา ความเสียหายอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ ดังนั้น บัณฑิตชนจึงไม่ยอมให้ผิดจังหวะเวลาดังกล่าวมานี้

(จากหนังสือ พุทธธรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 157 มกราคม 2557 โดย แก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)

กำลังโหลดความคิดเห็น