xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นกาแฟ “ดอยช้าง-ดอยตุง” ตีตราจีไอในอียู “พาณิชย์” ลั่นปีนี้ไทยมีสิทธิ์หลุดบัญชี PWL

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมทรัพย์สินทางปัญญาแจ้งข่าวดี “กาแฟดอยช้าง-ดอยตุง” จ่อขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอในอียูตามข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เผยอีก 3 เดือนไม่มีใครคัดค้านได้ขึ้นทะเบียนแน่ ลั่นปีนี้มีโอกาสหลุดพ้นบัญชี PWL หลังไทยทำงานด้านการปราบสินค้าละเมิดเข้มข้น ทั้งแก้กฎหมาย จัดการผู้ค้ารายใหญ่ และจับกุมผู้ละเมิดอย่างต่อเนื่อง เตรียมรอลุ้นผล เม.ย.นี้

นางกุลณี อิศดิศัย รองอธิบดีและรักษาการอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 และวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) ได้ประกาศโฆษณาขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยในอียู 2 รายการ คือ กาแฟดอยตุง และกาแฟดอยช้าง ที่กรมฯ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ในอียูตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. 2553 โดยหากไม่มีประเทศใดคัดค้านภายใน 3 เดือนจะทำให้กาแฟทั้ง 2 ชนิด เป็นสินค้าลำดับที่ 2 และ 3 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอของไทยในอียู ต่อจากข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2556

ทั้งนี้ หากได้รับการจดจีไอ กาแฟดอยตุง และกาแฟดอยช้าง จะได้รับการปกป้องคุ้มครองทั่วอียูตามกฎหมาย ซึ่งทำให้กาแฟที่ไม่ได้ผลิตจากดอยตุง หรือดอยช้าง จะไม่สามารถใช้ชื่อเดียวกันได้ และในอีก 3 เดือนข้างหน้าเมื่อได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการแล้ว กาแฟดอยตุง และกาแฟดอยช้างจะสามารถติดตราสัญลักษณ์จีไอของอียูบนบรรจุภัณฑ์ได้ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าดังกล่าวได้ เพราะชาวยุโรปชอบสินค้าจีไอ

“การที่สินค้าของไทยได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในอียู แสดงให้เห็นว่าสินค้าไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีความโดดเด่น แตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันจากแหล่งผลิตอื่นๆ ในโลก ตามมาตรฐานที่ยุโรปได้กำหนดไว้” นางกุลณีกล่าว

นางกุลณีกล่าวว่า สำหรับการดำเนินการของไทยเพื่อให้หลุดพ้นออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 301 พิเศษ กฎหมายการค้าสหรัฐฯ กรมฯ เชื่อว่าปีนี้ไทยมีโอกาสที่จะหลุดจากบัญชี PWL มาอยู่ที่บัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) หรืออยู่ในบัญชีประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ในไทยน้อยลง เพราะกรมฯ ได้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐฯ ในไทยอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ซึ่งกรมฯ ได้แจ้งแผนการทำงาน และความคืบหน้าการทำงานไปยังสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) แล้ว โดยสหรัฐฯ จะประกาศผลสถานะคู่ค้าของสหรัฐฯ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ในเดือน เม.ย.นี้

โดยการดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ผ่านมา ไทยได้พยายามออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการละเมิดตามที่สหรัฐฯ ร้องขอ ทั้งกฎหมายป้องกันการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ กฎหมายเอาผิดเจ้าของพื้นที่ที่สนับสนุนการละเมิด กฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจจับสินค้าละเมิดที่เป็นสินค้าผ่านแดน และสินค้าถ่ายลำเรือ และกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดบนอินเทอร์เน็ต โดยกฎหมายเหล่านี้ได้ปรับปรุงแก้ไขเสร็จแล้ว รอที่จะเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอน แต่มาชะงักเนื่องจากมีปัญหาทางการเมือง แต่เมื่อมีรัฐบาลใหม่กรมฯ ก็จะผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อไป

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กำหนดระเบียบการดำเนินการเพื่อเอาผิดผู้ค้าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วยการยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน หลังจากที่ได้มีการเพิ่มความผิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นความผิดมูลฐาน และยังอยู่ระหว่างศึกษาแนวคิดเรื่องการเอาผิดเจ้าของพื้นที่ที่ให้การสนับสนุนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อจูงใจให้เจ้าของพื้นที่ให้ความร่วมมือในการปราบปรามการละเมิดมากขึ้น

สำหรับแนวทางการปราบปราบในปีนี้จะยกระดับการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแบบเน้นกลุ่มสินค้าที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า ได้แก่ กลุ่มเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค อะไหล่ สุรา ไวน์ และเครื่องสำอาง ส่วนกลุ่มสินค้าลิขสิทธิ์ ได้แก่ สินค้าลิขสิทธิ์เพลง ภาพยนตร์ ซอฟต์แวร์ และเกม เป็นต้น ตลอดจนการดำเนินการเจาะกลุ่มพื้นที่เป้าหมาย ทั้งพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ (พื้นที่สีแดง) พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง (พื้นที่สีเหลือง) และพื้นที่ที่ปรากฏในหน่วยงานของ USTR รวมถึงการเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาและภาคเอกชนให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกในการเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่คนไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น