xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าสหรัฐฯ ชี้ “อินเดีย” ติดอันดับบ๊วยด้านการปกป้อง “ทรัพย์สินทางปัญญา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวอินเดียนำใบสั่งยาไปซื้อยาจากเภสัชกรท้องถิ่น
เอเอฟพี - รายงานจากหอการค้าสหรัฐฯ ชี้อินเดียได้คะแนนเป็นลำดับท้ายสุดในด้านการปกป้องเครื่องหมายการค้า, สิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญา

รายงานจากหอการค้าสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวานนี้ (29) เปิดเผยว่า อินเดียได้คะแนนเพียง 6.95 เต็ม 30 จากการจัดอันดับโดยศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาโลก (Global Intellectual Property Centre – GIPC)

รายงานชิ้นนี้ระบุว่า “การบังคับใช้กฎหมายปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในอินเดียยังถือว่าอ่อนแอที่สุดในกลุ่มประเทศที่ทำการศึกษา”

“การเพิกถอนสิทธิบัตรที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ ทำให้เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลอินเดียที่จะส่งเสริมนวัตกรรม และการปกป้องเจ้าของผลงาน”

GIPC ได้จัดอันดับ 25 ประเทศทั่วโลก โดยพิจารณาจากระดับการปกป้องและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร, เครื่องหมายการค้า, ลิขสิทธิ์ และความลับทางการค้า ซึ่งสหรัฐฯถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุดในปี 2013 ด้วยคะแนน 28.52

ลำดับที่ 2 ได้แก่อังกฤษ ซึ่งได้คะแนน 27.59 ขณะที่ฝรั่งเศสตามมาเป็นที่ 3 ด้วยคะแนน 27.15

เช่นเดียวกับในการจัดอันดับครั้งแรก อินเดียยังคงมีคะแนนต่ำสุดโดยเฉพาะในด้านสิทธิบัตร, ลิขสิทธิ์ และสนธิสัญญาสากล

อินเดียมักถูกร้องเรียนเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงและซอฟต์แวร์ รวมไปถึงการออกใบอนุญาตผลิตยาซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตยาสามัญสามารถ “ก๊อบปี้” ยาต้นแบบของบริษัทต่างชาติได้ นโยบายเช่นนี้ส่งผลให้บริษัทยาตะวันตกอย่าง Roche และ Pfizer ยากที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดยาอินเดียซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

ในส่วนของจีนนั้นได้คะแนน 11.62 ซึ่งถือว่ามีพัฒนาการเชิงบวกขึ้นมาเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า แต่บรรยากาศด้านทรัพย์สินทางปัญญาในภาพรวมก็ยัง “มีปัญหา โดยเฉพาะในด้านการปกป้องความลับทางการค้า”

ผลสำรวจยังพบว่า สิงคโปร์, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เป็น 3 ประเทศที่บังคับใช้กฎหมายปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มแข็งที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
กำลังโหลดความคิดเห็น