รอยเตอร์ - บริษัทยาระดับโลกได้อาศัยอิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐฯในการกดดันให้รัฐบาลอินเดียเลิกอนุญาตให้บริษัทยาอินเดียผลิตและจัดจำหน่ายยาสามัญ(Generic drug)ราคาถูกที่ยังอยู่ในสิทธิบัตร อ้างจากแหล่งข่าวใกล้ชิดของอินเดีย
อ้างจากแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดีย ในขณะนี้คณะกรรมาธิการของรัฐบาลอินเดียกำลังพิจารณาสิทธิบัตรยาของบริษัทยาชาติตะวันตกเพื่อหาช่องทางในการละเมิดสิทธิบัตรยาบางตัวเพื่อจะผลิตออกมาในราคาถูกในรูปแบบยาสามัญ(Generic drug) ซึ่งยาบางส่วนที่ทางคณะกรรมาธิการอินเดียกำลังวิเคราะห์นี้มีบางส่วนเป็นยาเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคตับอักเสบ และโรคเอดส์ ซึ่งไม่มีรายละเอียดที่เปิดเผยมากไปกว่านี้ และไม่มีระยะเวลาจำกัดในกระบวนการพิจารณาสิทธิบัตร แหล่งข่าวเผยกับรอยเตอร์
ซึ่งอินเดียเหมือนกับประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน และ แอฟริกาใต้ ที่ต้องการที่ต้องการให้ต้นทุนบริการสาธารณสุขของประเทศที่มีประชากรมากติดอันดับโลกต่ำที่สุดในขณะที่พยายามเปิดโอกาสให้พลเมืองสามารถเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็ง เอดส์ และโรคไวรัสตับอักเสบ
โดยยอดการขายยาในโลกตะวันตกที่ลดลงทำให้บริษัทยาทุนข้ามชาติ เช่น ไฟเซอร์ หรือ โนวาร์ติส เอจี. ต้องการที่จะเพิ่มยอดขายให้มากขึ้นในตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน หรือ อินเดีย ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่บริษัทยายักษ์ใหญ่เหล่านี้รู้สึกหงุดหงิดกับการตัดสินใจของรัฐบาลอินเดียหลายครั้งเกี่ยวกับสิทธิบัตรยาและการกำหนดราคายาในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลอินเดีนที่ต้องการเพิ่มโอกาสให้พลเมืองอินเดียสามารถเข้าถึงการรักษาโรคร้ายแรงได้มากขึ้น ในประเทศที่มีเพียงประชากรราว 15% สามารถมีประกันสุขภาพจากจำนวนประชากรในอินเดียทั้งหมดร่วม 1.2 พันล้านคน
ดังนั้นบริษัทยาระดับโลกต่างใช้ช่องทางผ่านสมาคมอุตสาหกรรมยาสหรัฐ หรือ PhRMA กดดันรัฐบาลสหรัฐฯให้ออกมาตรการที่หนักหน่วงขึ้นเพื่อบีบบังคับอินเดีย ซึ่งแท้จริงแล้วในขณะนี้อินเดียได้ถูกจัดอยู่ในรายชื่อกลุ่ม Priority Watch Listของรัฐบาลสหรัฐฯที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นรายชื่อของประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือสิทธิบัตร นอกจากอินเดียที่อยู่ในรายชื่อนี้แล้ว ยังมีอาร์เจนตินา จีน อียิปต์ ปากีสถาน รัสเซีย ไทย และอินโดนีเซีย
โดย PhRMAเชื่อว่าสหรัฐฯควรขู่รัฐบาลอินเดียโดยการลดระดับอินเดียให้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Priority Foreign Country หรือกลุ่มประเทศที่ขัดขวางพรมแดนทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีเพียงยูเครนเท่านั้นที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้
นอกจากนี้รอยเตอร์รายงาน โดยอ้างจากแหล่งข่าวในกรุงนิวเดลีที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้ว่า “บริษัทยาข้ามชาติตะวันตกได้ใช้ทุกช่องทาง ตั้งแต่ใช้เงินลงทุนในอินเดียไปจนถึงบีบให้รัฐบาลสหรัฐฯมีมาตรการที่เข้มข้นออกมา” และแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดในอินเดียยังเสริมว่า “บริษัทยาพวกนี้รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างตั้งแต่เริ่มต้นในการตรวจการละเมิดสิทธิบัตรยาของบริษัทในอินเดีย ซึ่งทางบริษัทยาต้องการให้รัฐบาลต่อรัฐบาลกดดันเพื่อเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ”
อย่างไรก็ตาม PhRMA ปฎิเสธที่จะให้ความเห็นกับรอยเตอร์ ซึ่งซีอีโอของบริษัทยาแห่งหนึ่งเผยว่า “ PhRMA ยื่นต่อรัฐบาลสหรัฐฯทุกปีในปัญหาการค้า แต่ปีนี้ทางบริษัทยามีความต้องการเป็นอย่างมากที่จะให้รัฐบาลสหรัฐฯกดดันอินเดียอย่างหนัก”
โดยรอยเตอร์รายงานว่า ทาง PhRMAมีแผนที่จะส่งให้กับรัฐบาลสหรัฐฯก่อนวันศุกร์(7)นี้ซึ่งเป็นเส้นตาย เพื่อจะรายงานให้ทางรัฐบาลสหรัฐฯทราบถึงรายชื่อประเทศที่ทางPhRMA เชื่อว่าจะเข้าข่ายในรายงานพิเศษ #301 ซึ่งเป็นรายงานประจำปีจากสำนักงานตัวแทนการสหรัฐฯ
นโยบายการผลิตยาเพื่อจำหน่ายในราคาถูกถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวในอินเดีย ซึ่งยาต้นแบบจากบริษัทยาข้ามชาติของตะวันตกนั้นมีราคาแพงกว่าที่ประชากรส่วนใหญ่ของอินเดียจะหาซื้อได้ ซึ่งมีประชากรอินเดียถึง40% ที่มีรายได้น้อยกว่า 1.25 ดอลลาร์ต่อวัน และยาต้นแบบนั้นมีสัดส่วนการขายในตลาดยาอินเดียต่ำกว่า 10% ซึ่งการต้องใช้วิธีบีบบังคับอินเดียที่ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้นั้นไม่ง่ายและยังเสี่ยงอีกด้วย
“ผมไม่เชื่อว่ามีความจำเป็นอะไรในการใช้วิธีรุนแรงเข้าจัดการ ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่นำไปสู่หายนะ ที่ไม่มีฝ่ายใดชนะ” แอนดรูว์ วิตตี ซีอีโอบริษัทเกล็กโซสมิทไคลเผย
ซึ่งในปี 2012 เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอินเดียได้อนุญาตให้บริษัทยาในประเทศ “Natco Pharma Limited”สามารถผลิตยาสามัญรักษาโรคมะเร็งตับและมะเร็งไต “Nexavar ” ที่มีบริษัทเยอรมันไบเออร์ เอจี เป็นเจ้าของสิทธิบัตร โดยทางบริษัทยาไบเออร์ เอจีได้กล่าวโต้การกระทำของรัฐบาลอินเดียครั้งนี้ว่า เป็นการทำร้ายต่อการวิจัยผลิตภัณฑ์ยา
และ มีต ฮารีอานี ผู้จัดการร่วมทุนสำนักงานกฏหมายHariani & Co ที่ตั้งอยู่ในเมืองมุมไบเสริมกับรอยเตอร์ว่า “หากเจ้าหน้าที่อินเดียยอมให้สิทธิบัตรยาทุกประเภทแก่บริษัทยาอินเดียสามารถผลิตยาสามัญได้ อินเดียจะเสียความน่าเชื่อถือในฐานะประเทศไป และยังต้องพบกับคดีมากมายที่มีลักษณะเช่นนี้ นอกจากนี้จะไม่มีใครกล้าที่จะนำยาตัวใหม่เข้ามายังตลาดอินเดีย แน่นอนที่สุดคุณไม่สามารถคาดหวังว่าจะหาซื้อยาที่เพิ่งได้รับการจดสิทธิบัตรตัวใหม่ในราคาเท่ากับยาแก้ปวดแอสไพรินได้”