xs
xsm
sm
md
lg

อุตุฯเตือนภัย "ระดับแดง" ก่อน “ไซโคลนไพลิน” ซัดฝั่งตะวันออกอินเดีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านยืนมองคลื่นสูงที่ซัดเข้าสู่ชายฝั่งเมืองท่าวิสาขปัตนัม รัฐอานธรประเทศ ก่อนที่ไซโคลนไพลินจะขึ้นฝั่งอินเดีย วันนี้(12)
เอเอฟพี – รัฐบาลอินเดียสั่งอพยพชาวบ้านกว่า 440,000 คน พร้อมประกาศเตือนภัยระดับแดงซึ่งเป็นขั้นสูงสุด ก่อนที่พายุไซโคลนไพลิน (Phailin) จะพัดขึ้นสู่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศในช่วงเย็นวันนี้ (12) ขณะที่ศูนย์ประเมินความเสี่ยงพายุประกาศให้ไพลินมีความรุนแรงถึงขั้น “ซูเปอร์ไซโคลน” แล้ว

ไซโคลนไพลินซึ่งมีความเร็วลมที่ศูนย์กลางถึง 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาจเป็นพายุไซโคลนรุนแรงที่สุดในรอบ 14 ปีที่พัดเข้าสู่อินเดีย และคาดว่าส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นถึง 3 เมตร

ที่รัฐโอริสสาและอานธรประเทศเริ่มเกิดลมกระโชกแรง ต้นไม้ใหญ่ๆ เอนลู่ไปตามแรงลม ก่อนที่พายุจะพัดเข้าสู่ฝั่งนานหลายชั่วโมง

ฝนและลมพายุจากไซโคลนลูกนี้จะกระหน่ำใส่หมู่บ้านชายทะเล ซึ่งเคยเผชิญหายนะจากซูเปอร์ไซโคลนที่พัดถล่มเมื่อปี 1999 จนมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 8,000 คน

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาอินเดียออกประกาศเตือนภัยระดับแดงก่อนที่พายุจะซัดเข้าฝั่ง ขณะที่ศูนย์พายุไต้ฝุ่นร่วมของกองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่า กระแสลมวนของไซโคลนลูกนี้อาจทวีกำลังแรงขึ้นจนถึง 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ด้านสถาบัน Tropical Storm Risk ซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงลอนดอน ได้จัดให้ไซโคลนไพลินอยู่ในกลุ่ม “ซูเปอร์ไซโคลน” ที่มีความรุนแรงที่สุดแล้ว

กองทัพอินเดียได้เตรียมกำลังพลลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะที่สภากาชาดอินเดียก็ส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยลงไปประจำการที่รัฐโอริสสา, อานธรประเทศ และหมู่เกาะนิโคบาร์ในทะเลอันดามันแล้ว

ฝ่ายบริหารรัฐโอริสสาซึ่งมีประชากรราว 40 ล้านคน ตั้งเป้าที่จะลดจำนวนเหยื่อพายุให้เหลือเพียง “ศูนย์” และจะเร่งอพยพประชาชนในพื้นที่ประสบภัยขั้นรุนแรงออกมาให้ได้ “100 เปอร์เซ็นต์”

ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดเผยให้เห็นไซโคลนไพลินกำลังปั่นไอน้ำเป็นวงขนาดใหญ่ข้ามอ่าวเบงกอลมาสู่ชายฝั่งอินเดีย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า “เขตอันตราย” ของพายุนั้นมีความกว้างราวๆ 150 กิโลเมตร

ซูเปอร์ไซโคลนที่พัดถล่มรัฐโอริสสาเมื่อปี 1999 มีความเร็วลมสูงกว่าและขนาดใหญ่กว่าที่สำนักอุตุนิยมวิทยาอินเดียประเมินไว้ล่วงหน้า และก่อให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งสูงถึง 6 เมตร รัฐบาลอินเดียประกาศยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่ 8,243 คน และยังมีสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านล้มตายไปอีกราว 445,000 ตัว

ผู้เชี่ยวชาญพายุในต่างประเทศเตือนว่า ครั้งนี้สำนักอุตุนิยมวิทยาอินเดียก็กำลังประเมินอิทธิพลของไซโคลนไพลินต่ำเกินไปอีกเช่นกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น