xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณเศรษฐกิจดิ่ง รถขนส่ง-อุตฯ เครื่องจักรกลปี 57 ทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลพวงการบริโภคชะลอตัวซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากชาวนาไม่ได้เงินจำนำ ม็อบยืดเยื้อ แถมส่งออกลดลง ฉุดให้ภาคการขนส่งปีนี้ดิ่งหนักหลัง เม.ย.วูบกว่า 30% แน่หลังไตรมาสแรกที่เป็นไฮซีซันจะตกถึง 20% รถบรรทุกหลายรายผ่อนส่งไม่ไหวเริ่มเป็น NPL แล้ว ขณะที่อุตฯ เครื่องจักรกลและโลหการปีนี้โต 5-10% หลังการลงทุนซบ

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาวะการส่งออกที่ลดลง และการบริโภคในประเทศชะลอตัวส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่งสินค้าให้ลดลงตามไปด้วย ซึ่งไตรมาสแรกลดลงถึง 20% และจะส่งผลให้หลัง เม.ย.ไปแล้วการขนส่งจะตกมากกว่า 30% ซึ่งถือว่าลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนส่งรถบรรทุกเริ่มไม่ตรงเวลาและมีการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL บ้างแล้ว

“การบริโภคที่ชะลอตัวในประเทศมันเป็นลูกโซ่ที่ส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องจากชาวนาไม่ได้รับเงินจำนำเงินในระบบเลยไม่หมุนเวียน ประกอบกับเมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองทำให้คนประหยัด และอีกส่วนส่งออกเราก็มีปัญหาก็เลยแย่หมด ซึ่งปกติไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 4 จะเป็นไฮซีซันของการขนส่ง และจะเริ่มชะลอตัวหรือตกลงหลัง เม.ย.เพราะจะเข้าสู่ฤดูฝนแต่ปีนี้เริ่มต้นก็แย่แล้ว ดังนั้น เม.ย.ก็จะทรุดหนักกว่าปกติ” นายยูกล่าว

ทั้งนี้ ปกติเมื่อภาคเกษตรกรมีสภาพคล่องที่ดีก็จะมีการซ่อมแซมหรือปลูกบ้านใหม่ทำให้เกิดการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์การขนส่งเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันการขนส่งมีรอบที่น้อยลงจากปกติเมื่อขนส่งสินค้ามาท่าเรือแทนที่จะตีรถกลับไปพร้อมกับวัสดุก่อสร้าง แต่ขณะนี้ต้องตีรถเปล่าหรือไม่ก็ต้องรอจนกว่าจะมีสินค้าออกไปเพื่อให้คุ้มทุน

นายไสว ชัยชนะกล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรและโลหการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้การลงทุนปีนี้อาจลดลงตาม ดังนั้นคาดว่าปี 2557 ยอดจำหน่ายเครื่องจักรกลฯ และรวมถึงงานบำรุงรักษาจะโตในอัตราที่ลดลงเหลือเพียง 5-10% จากปีที่แล้วที่มีอัตราเติบโตกว่า 20% ซึ่งสาเหตุที่ยังมีการเติบโตได้ระดับหนึ่งเป็นเพราะการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรยังคงดำเนินการต่อเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่

“เครื่องจักรกลฯ ปกติก็จะโต 10% เพราะแต่ละปีก็ต้องเปลี่ยนเครื่องจักรและมีการลงทุนใหม่ สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือภาษีฯ นำเข้าเหล็กและชิ้นส่วนที่จะนำมาประกอบยังคงสูงมากเมื่อเทียบกับการนำเข้าเครื่องจักรฯ โดยตรงเข้ามาและอดีตจึงทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีได้สูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้วเพราะสู้ไม่ได้ในเรื่องของราคา ไทยไม่สามารถทำราคาถูกสู้จีนได้จึงต้องเน้นการทำเครื่องจักรกลที่มีเทคโนโลยีเฉพาะด้านเท่านั้น” นายไสวกล่าว

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เป็นที่น่ายินดีที่พบว่าเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนามกลับสนใจเครื่องจักรของคนไทยที่ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีระดับกลางเหมาะสำหรับโรงงานขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอีและมีราคาถูกกว่าการนำเข้าเครื่องจักรมือสองจากญี่ปุ่นมากกว่าคนไทยด้วยกันเองจึงเป็นโอกาสที่ดี โดยเร็วๆ นี้กลุ่มฯ จะไปดูงานที่พม่า และเวียดนาม
กำลังโหลดความคิดเห็น