xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.เฮ! ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง กรณีค่าโง่ทางด่วนบางนา-ชลบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องกรณีช.การช่างเรียกค่าก่อสร้างทางด่วนบางนา-ชลบุรี เพิ่มกว่า 6 พันล้านบาทพร้อมให้กทพ.คืนโครงการ เหตุเป็นลาภไม่ควรได้ โดยศาลระบุชัดสัญญาได้มาโดยการกระทำไม่สุจริตตั้งแต่ต้นและโจทก์ยอมรับความเสี่ยงเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายในการออกแบบและก่อสร้างที่เกิดขึ้นในภายหลังเอง กทพ.มั่นใจไม่แพ้แม้เอกชนจะยื่นศาลฏีกา 

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556  ศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษา คดีระหว่าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ฟ้อง กทพ.เป็นจำเลย เรื่องลาภมิควรได้ที่เกิดขึ้นจากสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้าง โครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง โดยศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โดยจำเลยไม่ต้องคืนโครงการทางด่วนที่ได้รับมาแล้วให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ และไม่ต้องชำระเงินค่าจ้างเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยและไม่ต้องส่งมอบดอกผลในค่าผ่านทางด่วนให้โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น 

แหล่งข่าวจากกทพ.กล่าวว่า แม้ทาง ช.การช่างจะยังสามารถยื่นศาลฏีกาได้อีก แต่ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มีความชัดเจนในประเด็นที่พิพาท จึงมั่นใจว่าในที่สุดกทพ.จะไม่ต้องคืนโครงการทางด่วนและจ่ายค่าก่อสร้างเพิ่มเติมตามที่ช.การช่างต้องการแน่นอน

สำหรับคดีระหว่าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะหุ้นส่วนกิจการร่วมค้าบีบีซีดีและในนามกิจการร่วมค้า บีบีซีดี กับ กทพ.จำเลยในข้อหาหรือฐานความผิด ลาภมิควรได้นั้น เริ่มจากเมื่อวันทีี่ 28 มิถุนายน2538 จำเลยได้ทำสัญญาจ้างเหมาให้กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ซึ่งมีโจทก์เป็นหุ้นส่วนด้วยเป็นผู้รับจ้างทำการออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง วงเงิน 25,192,950,000 บาท ทำงานแล้วเสร็จใน 42 เดือน(ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2542) แต่เนื่องจากจำเลยไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้ในกำหนด และจำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างทำให้งานของโจทก์ล่าช้าต้องขยายเวลาทำงานออกไปอีก 11 เดือน ปรับค่าจ้างเพิ่ม 6,039,893,254 บาท แต่โจทก์ชำระค่าจ้าง 25,192,950,000 บาท

โจทก์จึงเสนอข้อขัดแย้งต่ออนุญาโตตุลาการ ซึ่งชี้ขาดให้จำเลยชำระค่าจ้างเพิ่มเติมให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยแต่จำเลยไม่ยอมชำระ โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจำเลยได้ยื่นคัดค้าน แต่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จำเลยได้อุทธรณ์ต่อศาลต่อศาลฎีกา และเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์ โดยปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยวินิจฉัยว่า การทำสัญญาจ้างเหมาเอื้อประโยชน์แก่โจทก์ และโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ได้ กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย

ทาง ช.การช่างได้เป็นโจทย์ยื่นฟ้องกทพ.ต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 721/2551 โดยอ้างว่า ผลแห่งคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 7277/2549 ทำให้กทพ.ได้ทางพิเศษสายบางนา-บางพลี-บางปะกง มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย กทพ.มีหน้าที่คืนทางพิเศษให้แก้โจทก์ แต่เนื่องจากทางพิเศษตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว กทพ.จึงต้องชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,683,686,389.76 บาทของเงินต้น 6,039,893,254 บาทและดอกผลอันเกิดจากค่าผ่านทาง ซึ่งจำเลยเรียกเก็บจากผู้ใช้ทางพิเศษตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 จนกว่า กทพ.จะชดใช้เงินจำนวนตามฟ้อง
       
ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2554 ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 5,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งกทพ.ได้อุทธรณ์กรณีดังกล่าว โดยที่สุดศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลัว ให้ยกฟ้อง โดยระบุว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาพิพาทกับจำเลยโดยกระทำการไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้นและโจทก์ยอมรับความเสี่ยงเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายในการออกแบบและก่อสร้างที่เกิดขึ้นในภายหลังเอง ดังนั้นแม้ต่อมาโจทก์ทำงานแล้วเสร็จส่งมอบโครงการให้จำเลย ก็ยังถือว่าโจทก์กระทการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี 

ฉะนั้น โจทย์จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยคืนโครงการทาวด่วนแก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 411 แม้จะได้ความว่าจำเลยได้รับโครงการที่โจทก์ส่งมอบมาก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษาซึ่งถือว่าจำเลยรับโดยสุจริต และเนื่องจากศาลฏีกาไม่ได้วินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเหมาพิพาทเป็นโมฆะ เพียงแต่ปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเท่านั้น ซึ่งศาลชั้นต้นก็ไม่มีอำนาจกระทำได้  จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่จำเลยอุทธรณ์โดยเฉพาะในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่อีกต่อไป เนื่องจากไม่เป็นผลให้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงไปได้

ดังนั้นจำเลยจึงไม่ต้องคืนโครงการทางด่วนที่ได้รับมาแล้วให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ และไม่ต้องชำระค่าจ้างเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยและไม่ต้องส่งมอบดอกผลในค่าผ่านทางด่วนให้โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น