“พาณิชย์” เผยอียูตรวจพบแมลงวันผลไม้ในฝรั่งจากไทย 3 ครั้ง และศัตรูพืชในผักแล้ว 5 ครั้ง จี้ไทยเร่งแก้ไข หากพบเกินที่กำหนดห้ามนำเข้าทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้รายงานถึงการนำเข้าผักสด และผลไม้จากไทยมายังสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป (อียู) โดยพบว่าอียูได้ตรวจพบศัตรูพืชที่ควบคุม คือ แมลงวันผลไม้ในฝรั่งที่นำเข้าจากไทย ซึ่งเป็นการตรวจพบครั้งที่ 3 และอียูเตือนว่าหากยังตรวจพบศัตรูพืชในผลไม้จากไทยเกิน 5 ครั้งต่อปี หรือตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2556-1 ส.ค. 2557 จะจำกัดการนำเข้าผลไม้จากไทยทันที จึงขอให้ไทยเร่งดำเนินการตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาศัตรูพืช โดยเฉพาะในฝรั่ง มะม่วง และชมพู่
ทั้งนี้ อียูยังได้ตรวจพบศัตรูพืชในผักสดจากไทย 5 กลุ่ม (16 ชนิด) ถึง 5 ครั้ง ซึ่งอียูเคยกำหนดเงื่อนไขว่า หากตรวจพบศัตรูพืชในผัก 5 กลุ่มของไทยเกินกว่า 5 ครั้งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 2556 เป็นต้นมา จะประกาศระงับการนำเข้าผักสดจากไทยทั้งหมดทันที ดังนั้น เพื่อไม่ให้อียูประกาศระงับการนำเข้า จึงคาดว่ากรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีมาตรการจำกัดการส่งออกผักสดมาอียูจนกว่าจะพ้นระยะเวลา 1 ปี หรือสิ้นสุดวันที่ 14 มี.ค. 2557
อย่างไรก็ตาม หากมีการจำกัดการส่งออกจริงอาจทำให้ผักสดจากไทยขาดตลาดในสหราชอาณาจักร และในประเทศที่เป็นสมาชิกอียู และจะทำให้ราคาผักสดจากไทยในอียูมีราคาสูงขึ้น ซึ่งจากการสำรวจผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายผักสดจากไทยที่เป็นห้างซูเปอร์มาร์เกต พบว่าตั้งแต่อียูมีมาตรการตรวจเข้มสารตกค้าง และแมลงศัตรูพืชในผักสดของไทยในปี 2553 ราคาปรับตัวสูงขึ้นแล้ว 40-45% ขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าได้หันไปนำเข้าจากลาว เวียดนาม มาเลเซีย ไซปรัส และสเปนแทน รวมถึงมีการนำเข้าผักอบแห้งบางชนิด เช่น กะเพราอบแห้งมาจำหน่ายแทนกะเพราสดด้วย
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ไทยควรส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารไทยให้ปลอดจากสารตกค้าง ยาฆ่าแมลง และศัตรูพืช ให้เป็นไปตามมาตรฐานของอียู และควรส่งเสริมให้มีการส่งออกผักอบแห้งมาจำหน่ายทดแทนผักสดที่ถูกตรวจสอบการนำเข้าอย่างเข้มงวด รวมถึงผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุกับกรมวิชาการเกษตรให้มากขึ้นโดยเร็ว เพราะอียูจะให้การรับรองการนำเข้าผักจากโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาผักขาดแคลนในสหราชอาณาจักร และอียู ซึ่งปัจจุบันมีโรงคัดบรรจุผักที่ขึ้นทะเบียนไว้เพียง 21 รายเท่านั้น
อียูได้ประกาศเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2553 ควบคุมอย่างเข้มงวดในการนำเข้าอาหาร และอาหารสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพประชาชนจากการตกค้างของสารปนเปื้อนต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก สีผสมอาหาร อะฟลาท็อกซิน ในปริมาณสูงเกินมาตรฐาน โดยประเทศที่เข้าข่าย ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล จีน กานา อินเดีย ไนจีเรีย อุซเบกิสถาน เวียดนาม ปากีสถาน สาธารณรัฐโดมินิกัน ตุรกี และไทย โดยไทยอียูพบปัญหาสารตกค้างและปนเปื้อนในผักสดมากขึ้น ซึ่งในปี 2552 ตรวจพบถึง 716 ครั้ง จึงประกาศควบคุมการนำเข้าผักสด 5 กลุ่ม 16 ชนิดจากไทย ได้แก่ 1. กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า 2. พริกหยวก พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู 3. มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือเหลือง และมะเขือขื่น 4. มะระจีน มะระขี้นก และ 5. ผักชีฝรั่ง