xs
xsm
sm
md
lg

ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสีม่วงใต้เพิ่มอีก 6 พันล้าน รฟม.ย้ายเดปโป้ลดผลกระทบเวนคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รฟม.ยุติปัญหาเวนคืนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ปรับแนว-ย้ายศูนย์ซ่อม-ยืดอีก 2 สถานีปลายทางถึงครุใน ทำวงเงินลงทุนเพิ่มอีกกว่า 6 พันล้าน มูลค่ารวมแตะ 1.1 แสนล้าน เตรียมสรุปเสนอบอร์ด ม.ค. 57 พร้อมขอ ครม.อนุมัติแยกประมูลช่วง 1 สถานี (เตาปูน-รัฐสภา) ก่อนเพื่อเชื่อมกับสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) 

วันนี้ (7 ธ.ค.) นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา และดำเนินงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (สีม่วงใต้) ครั้งที่ 2 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน

นายยงสิทธิ์กล่าวว่า จากการศึกษาทบทวนแนวเส้นทางล่าสุดเพื่อลดผลกระทบด้านการเวนคืนได้มีการปรับแนวเส้นทางใน 2 จุดใหญ่ คือ 1. สถานีเตาปูน- รัฐสภา โดยปรับมาใช้แนวถนนผังเมือง ง.8 ของ กทม.แทนแนวเดิมที่ผ่านหมู่บ้านเสริมสิน ซึ่งจะทำให้มีค่าก่อสร้างเพิ่มอีกกว่าพันล้านบาทรวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการเดินรถเพิ่มเพราะมีวงเลี้ยวค่อนข้างแคบ แต่เป็นทางลือกที่ลดผลกระทบการเวนคืนได้ดีที่สุด 2. ย้ายศูนย์ซ่อมบำรุง จากบางผึ้ง (ใต้สะพานภูมิพล) ไปที่ริมถนนกาญจนาภิเษกวงแหวนใต้ (ข้างด่านเก็บค่าผ่านทางบางพลี-สุขสวัสดิ์ ด้านขาเข้าเมือง) พื้นที่ประมาณ 120-130 ไร่ ซึ่งจะต้องต่อเส้นทางออกไปประมาณ 5 กม.เพิ่มอีก 2 สถานี คือ พระประแดง และครุใน (สุขสวัสดิ์ 70) ค่าก่อสร้างเพิ่มประมาณ 6,000 ล้านบาท ช่วยลดการเวนคืนลงเหลือประมาณ 10 กว่ารายจากเดิมที่มีผู้ถูกเวนคืนกว่า 100 ราย 

ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนมกราคม 57 ที่ปรึกษาจะสรุปแนวเส้นทาง รูปแบบโครงสร้าง ผลการศึกษาออกแบบทางสถาปัตยกรรม ผลการศีกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มีนางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล เป็นประธาน จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการต่อไป โดยหาก ครม.อนุมัติโครงการประมาณกลางปี 57 คาดว่าจะประกวดราคาและสามารถลงนามสัญญาก่อสร้างเริ่มงานก่อสร้างได้กลางปี 58 และเปิดให้บริการในปี 62

นายยงสิทธิ์กล่าวว่า ตามแผน รฟม.จะเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติสายสีม่วงใต้ทั้งโครงการ โดยจะเสนอทางเลือกในการแยกการก่อสร้างช่วงสถานีเตาปูน-รัฐสภา ระยะทางประมาณ 1 กม.เศษ วงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท ประกวดราคาก่อนภายในกลางปี 57 เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินรถกับสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ซึ่ง รฟม.จะเดินรถเองเชื่อมกับช่วง 1 สถานี (บางซื่อ-เตาปูน) รองรับกับสถานีรัฐสภา ซึ่งตามแผนก่อสร้างขณะนี้จะเปิดล่าช้ากว่าสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ประมาณ 1 ปี

โดยวงเงินลงทุนสายสีม่วงใต้รวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ประกอบด้วยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าที่ปรึกษาประมาณ 12,600 ล้านบาท ค่างานโยธาประมาณ 71,800 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (M&E) ประมาณ 10,000 ล้านบาท งานระบบรถไฟฟ้า (Rolling Stock) ประมาณ 10,000 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional sum) ประมาณ 5,400 ล้านบาท และค่าก่อสร้างศูนย์ซ่อมวงแหวนใต้ และ 2 สถานีเพิ่ม (พระประแดง, ครุใน) อีกประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดย รฟม.จะกู้เงินมาลงทุนเอง

สำหรับแนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นจากจุดเชื่อมโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่บริเวณสถานีเตาปูน โดยเปลี่ยนเป็นเส้นทางใต้ดินแล้วเบี่ยงเข้าสู่ถนนสามเสนบริเวณคลองบางซื่อ ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ ผ่านโรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซัายเข้าถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แยกผ่านฟ้าฯ ถนนราชดำเนินกลาง เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดแยกมไหสวรรย์ เข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์ จากนั้นเปลี่ยนเป็นเส้นทางยกระดับผ่านแยกจอมทอง แยกถนนประชาอุทิศ ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร เข้าสู่ราษฎร์บูรณะข้ามคลองแจงร้อนผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดบริเวณครุใน ระยะทาง 23.6 กม. เป็นโครงสร้างใต้ดิน 12.6 กม. และโครงสร้างยกระดับ 11 กม. มีสถานี 17 สถานี แยกเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี ยกระดับ 7 สถานี

กำลังโหลดความคิดเห็น