xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ยอมปรับแนวสายสีม่วงใต้ เลี่ยงเวนคืนหมู่บ้านเสริมสิน ยึดแนวถนนผังเมือง กทม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
บอร์ด รฟม.เห็นชอบปรับแนวรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ช่วงสถานีเตาปูน ถึงสถานีรัฐสภา หนีหมู่บ้านเสริมหลังถูกประท้วงหนัก หันใช้แนวถนนของ กทม. เส้น ง 8 แทน ลดผลกระทบเวนคืนเหลือ 70 หลังคาเรือน คาดเสนอ ครม.ขออนุมัติก่อสร้างเร็วๆ นี้ ส่วนเพิ่มทุน BMCL รอผลวิเคราะห์จากที่ปรึกษาการเงิน ชงบอร์ด 29 พ.ย.นี้ตัดสินใจ

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒนกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.วันนี้ (21 พ.ย.) มีมติเห็นชอบปรับเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ช่วงสถานีเตาปูน ถึงสถานีรัฐสภาแห่งใหม่ จากเดิมที่แนวเส้นทางจะต้องผ่านหมู่บ้านเสริมสินซึ่งถูกคัดค้านเนื่องจากต้องเวนคืนกว่า 200 หลังคาเรือนทำให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าได้ โดยจะเปลี่ยนมาก่อสร้างตามแนวเส้นทาง ถนนตามผังเมืองของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เส้น ง 8 ซึ่งเป็นถนนแนวใหม่เริ่มจากสามแยกเตาปูน ตัดผ่านพื้นที่บางส่วนของทหาร อาทิ พล.ม.4 กรมยุทธการทหารบก ย่านบางซื่อ ซึ่งเป็นโครงสร้างยกระดับจากสถานีเตาปูนผ่านพื้นที่ของทหารก่อนเริ่มมุดลงดินที่ถนนทหารเข้าสู่ถนนสามเสนไปยังสถานีรัฐสภาซึ่งเป็นสถานีใต้ดิน

โดยแนวเส้นทางส่วนใหญ่จะอยู่บนแนวถนนของ กทม. และใช้พื้นที่เขตทหารบางส่วน ซึ่ง รฟม.ได้หารือร่วมกับทั้ง 2 หน่วยงานแล้ว ทำให้การเวนคืนลดลงเหลือประมาณ 70 กว่าหลังคาเรือนเท่านั้น ส่วนระยะทางช่วงสถานีเตาปูน ถึงสถานีรัฐสภาแห่งใหม่จะเพิ่มเป็น 2 กม.จากแนวเดิมที่ผ่านหมู่บ้านเสริมสิน ระยะทางประมาณ 1.5 กม. ซึ่งประเมินค่าก่อสร้างเพิ่มประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะหารือและสรุปการออกแบบก่อสร้างแนวเส้นทางใหม่แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2556 จากนั้นจะสามารถเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติก่อสร้างได้

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) จะเชื่อมต่อสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่สถานีเตาปูน และเปลี่ยนเป็นใต้ดิน เข้าถนนสามเสนผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศวรวิหาร แยกผ่านฟ้าฯ ถนนราชดำเนินกลาง ถนนมหาไชย วัดราชนัดดา ถนนจักรเพชร ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สะพานพระปกเกล้า เข้าถนนประชาธิปก สี่แยกบ้านแขก วงเวียนใหญ่ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แยกมไหสวรรย์ ถนนสุขสวัสดิ์ จากนั้นยกระดับผ่านแยกจอมทอง แยกประชาอุทิศ ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร ราษฎร์บูรณะ สิ้นสุดที่พระประแดง ระยะทาง 21 กม. มีโครงสร้างใต้ดิน 13.2 กม. ยกระดับ 7.8 กม. มี 16 สถานี ใต้ดิน 10 สถานี ยกระดับ 6 สถานี มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งที่วงแหวนอุตสาหกรรม และมีอาคารจอดรถ 2 แห่ง บริเวณสถานีราษฎร์บูรณะและศูนย์ซ่อมบำรุง

ส่วนการร่วมเพิ่มทุนกับ BMCL เพื่อรักษาสัดส่วนหุ้นของ รฟม.ไว้ที่ 25% เท่าเดิมนั้น รฟม.ได้จ้างที่ปรึกษาทางการเงินแบบเร่งด่วนเพื่อประเมินแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุด ซึ่งจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้อีกครั้งเพื่อหาข้อสรุป จากนั้นจะเสนอไปกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมวันที่ 3 หรือ 11 ธันวาคม เพื่อให้ทันกำหนดการแจ้งความจำนงและการชำระเงินเพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนช่วงวันที่ 9-16 ธันวาคม 2556 หากพ้นจากนี้ BMCL จะถือว่า รฟม.ไม่ร่วม และสัดส่วนของ รฟม.จะลดลงเหลือ 14% ซึ่งหากเพิ่มทุนจะใช้เงินประมาณ 2,100 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังจะต้องเป็นผู้จัดหาเงินลงทุนเพิ่มให้

“บอร์ด รฟม.ได้มีการประชุมเรื่องเพิ่มทุนใน BMCL มาแล้ว 3 ครั้ง โดยระมัดระวังโดยคำนึงถึงนโยบายและผลประโยชน์ต่อภาครัฐ และการให้บริการแก่สาธารณชนเป็นหลัก ซึ่งเบื้องต้นได้เห็นชอบในการออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้นที่ BMCL มีการเพิ่มทุนไปแล้ว ซึ่งบอร์ดจะเสนอแนวทางที่ดีที่สุดให้ ครม.พิจารณา”

นอกจากนี้ บอร์ดยังเห็นชอบให้เปิดประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทางประมาณ 19 กม. วงเงิน 29,140 ล้านบาท แบ่งงานโยธาเป็น 4 สัญญา คาดว่าจะขายซองประกวดราคาได้ในเดือนมกราคม 2557
กำลังโหลดความคิดเห็น