“คมนาคม” แย้มนโยบาย รฟม.ไม่จำเป็นร่วมเพิ่มทุนใน BMCL ชี้ถือหุ้นลดลงไม่กระทบต่อการกำกับดูแลได้ เช่น พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เหตุใช้กลไกอื่นบริหารงานได้ แต่ในแง่ผลตอบแทนการลงทุนและรายได้ต้องรอคลังพิจารณาก่อน ประเมินเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การพิจารณาเพิ่มทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL เพื่อคงสัดส่วนหุ้น หลังจากที่ BMCL ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท และทำให้สัดส่วนหุ้นของ รฟม.ลดลงจาก 25% นั้น จะต้องพิจารณาด้านความสามารถในการกำกับดูแล ซึ่งในส่วนนโยบายของกระทรวงคมนาคมเห็นว่า รฟม.ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนตามก็สามารถกำกับดูแล BMCL ได้ โดยใช้กลไกอื่นๆ เช่น การกำกับดูแลผ่านทางพระราชบัญญัติเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ) รวมถึงยังไม่มีนโยบายซื้อหุ้นทั้งหมดคืนหุ้นจาก BMCL
โดยหากพิจารณาในแง่การลงทุนและรายได้ ต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ตัดสินใจว่า รฟม.ควรเพิ่มทุนหรือไม่ ซึ่งหลังจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มี น.ส.รัชนี ตรีพิพัฒน์กุล เป็นประธานพิจารณาแล้ว จะรายงานมาที่กระทรวงคมนาคมเพื่อหารือกับกระทรวงการคลัง และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
“กระทรวงคมนาคมมองว่า การร่วมเพิ่มทุนกับ BMCL เพื่อรักษาสัดส่วนหุ้นของ รฟม.ไว้ที่ 25% เท่าเดิมนั้น ไม่มั่นใจว่ามีความจำเป็นมากนัก เพราะ รฟม.จะถือหุ้นที่ 25% หรือไม่ถึง 25% ก็ได้ ดังนั้น จะร่วมเพิ่มทุนหรือไม่เพิ่มทุนจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ถ้ามองในแง่ของการลงทุน รายได้ ประเด็นนี้ ต้องรอให้กระทรวงการคลังพิจารณาก่อน ค่อยตัดสินใจสุดท้าย” แหล่งข่าวกล่าว
ด้านนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด รฟม.วันนี้ (21 พ.ย.) ไม่ชัดเจนว่าบอร์ดจะมีการหารือเรื่องเพิ่มทุนหรือไม่ เพราะไม่มีวาระหารือเป็นทางการ แต่สามารถนำมาหารือในวารถอื่นๆ ได้ โดยล่าสุด รฟม.ได้วางทางเลือก 4 แนวทาง คือ 1. ไม่ร่วมเพิ่มทุนกับ BMCL ซึ่งจะทำให้ รฟม. มีสัดส่วนหุ้นลดลงจาก 25% 2. ร่วมเพิ่มทุน ซึ่งจะต้องขออนุมัติเงินลงทุนเพิ่มจาก ครม. 3. ขายหุ้น BMCL ที่รฟม.ถืออยู่ทั้งหมด หรือ 4. ซื้อหุ้นทั้งหมดกลับมาเป็นของภาครัฐ ซึ่งกรณีนี้เมื่อปี 2548 ที่ ครม.มีมติอนุมัติให้ รฟม.ร่วมถือหุ้นใน BMCL รัฐบาลเคยมีนโยบายที่จะซื้อคืนด้วย
อย่างไรก็ตาม หาก รฟม.สรุปว่าไม่ร่วมเพิ่มทุนกับ BMCL ในครั้งนี้ สัดส่วนการถือหุ้นใน BMCL จะลดลงเหลือประมาณ 14% แต่หากร่วมเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นให้อยู่ในระดับ 25% เท่าเดิม ต้องใช้เงินประมาณ 2,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งต้องเสนอขออนุมัติจาก ครม.ขณะที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา BMCL ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 เพื่อพิจารณาวาระการเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 11,950 ล้านบาท เป็น 20,500 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน8,550 ล้านหุ้น ในมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยที่ประชุมฯมีมติเห็นชอบการเพิ่มทุนดังกล่าวตามวัตถุประสงค์ 3 ข้อที่ BMCL แจ้งให้รับทราบ แต่ผู้ถือหุ้นเสนอให้ BMCL ปรับสัดส่วนการจำหน่ายหุ้นจากเดิม กำหนดไว้ที่ 5.9 หุ้นสามัญเดิมต่อ1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน เป็น 1.3977 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว
โดยหลังการเพิ่มทุนแล้ว จะทำให้ส่วนทุนของ BMCL เพิ่มขึ้นเป็น 9,310 ล้านหุ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 463 ล้านหุ้น ส่งผลให้มูลค่าหุ้นตามราคาบัญชีเพิ่มขึ้นเป็น 45 สตางค์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 4 สตางค์ และสามารถลดต้นทุนดอกเบี้ยได้ปีละ 640 ล้านบาท โดยเหลือมูลหนี้ที่เป็นเงินต้นอยู่ 11,000 ล้านบาท