xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟม.แทงกั๊กร่วมเพิ่มทุน BMCL รอที่ปรึกษาการเงินวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล  ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
บอร์ด รฟม.ยื้อสรุปร่วมเพิ่มทุน BMCL ให้ที่ปรึกษาทางการเงินวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย พร้อมตั้งคณะทำงานเจรจาเอกชนนัดประชุมวาระพิเศษปลาย ต.ค.ตัดสินใจ ยันรู้ก่อน BMCL ประชุมผู้ถือหุ้น 11 พ.ย. พร้อมเห็นชอบแผนงานปี 57 ขีดเส้นรถไฟฟ้าทุกสายต้องลงนามก่อสร้างให้หมดในปี 58 

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมได้พิจารณากรณีที่บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 8,550 ล้านหุ้นในฐานะที่ รฟม.เป็นผู้ถือหุ้น บอร์ด รฟม.จึงมีมติเห็นชอบในหลักการให้ BMCL ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทโดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ เนื่องจากพิจารณาตามเหตุผลของ BMCL แล้วเห็นว่าการเพิ่มทุนจะทำให้ฐานะทางการเงินและการให้บริการของ BMCL ดีขึ้น
           
ทั้งนี้ ในส่วนของ รฟม.จะมีการร่วมเพิ่มทุนหรือไม่นั้น ที่ประชุมบอร์ดได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา โดยมีนายวินัย ดำรงมงคลกุล รองอัยการสูงสุดในฐานะกรรมการบอร์ด รฟม.เป็นประธานเพื่อเจรจากับ BMCL พร้อมทั้งให้ที่ปรึกษาทางการเงินของ รฟม.พิจารณาข้อดีข้อเสียก่อนตัดสินใจว่า รฟม.ควรร่วมเพิ่มทุนกับ BMCL หรือไม่ โดยคณะทำงานฯ จะเริ่มการเจรจาในสัปดาห์หน้า และบอร์ด รฟม.จะมีการประชุมวาระพิเศษเรื่องการร่วมเพิ่มทุนใน BMCL ช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนที่ BMCL จะจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556

นางสาวรัชนีกล่าวว่า ไม่ว่า รฟม.จะตัดสินใจเพิ่มทุนกับ BMCL หรือไม่ก็ต้องมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เนื่องจาก ครม.มีมติเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2549 ให้ รฟม.ถือหุ้น BMCL ในอัตรา 25% ของทุนจดทะเบียน ดังนั้นหากสัดส่วนการถือหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องเสนอ ครม.พิจารณา

“ในส่วนของบอร์ด รฟม.นั้น เบื้องต้นเห็นด้วยการกับที่ BMCL จะเพิ่มทุน เพราะเห็นว่าจะทำให้ฐานะทางการเงินและการบริการต่างๆ ของเขาดีขึ้น ส่วน รฟม.จะร่วมเพิ่มทุนด้วยหรือไม่ยังบอกไม่ได้ เพราะตอนนี้มีหลายทางเลือก โดยจะพิจารณา 2 ประเด็นประกอบกันคือ ผลตอบแทนทางการเงินของ BMCL กับผลประโยชน์ที่ รฟม.จะได้รับหากคงสิทธิ์ไว้ที่ 25%” นางสาวรัชนีกล่าว

โดยที่ประชุมบอร์ด BMCL เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทจากเดิม 11,950 ล้านบาท เป็น 20,500 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 8,550 ล้านหุ้น ในมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาทว่าจะทำให้ส่วนทุนของ BMCL เพิ่มขึ้นเกือบ 9,000 ล้านหุ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 500 ล้านหุ้น และทำให้หนี้สินต่อทุน (DE) ลดลงเหลือ 1:1 จากเดิมสูงเกิน 10 เท่า ซึ่งหาก รฟม.จะร่วมเพิ่มทุนกับ BMCL โดยรักษาสัดส่วนการถือหุ้นให้อยู่ที่ 25% ต่อไปก็จะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มหลักพันล้านบาท แต่หาก รฟม.ไม่ร่วมเพิ่มทุนสัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงเหลือประมาณ 15%

นางสาวรัชนีกล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.ยังมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2557 (ต.ค. 56-ก.ย. 57) ตามที่นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯ รฟม.เสนอ โดยมีหลักการว่า รฟม.ต้องผลักดันงานก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายทางให้ลงนามในสัญญากับผู้รับงานได้ทั้งหมดภายในปี 2558 คือ สายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี สีส้ม ทั้ง 2 ช่วง คือ ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์ และบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม สีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ
กำลังโหลดความคิดเห็น