รฟม.ชงบอร์ด 17 ต.ค. เคาะร่วมเพิ่มทุน BMCL หรือไม่ เผยแนวโน้มไม่ร่วมมากกว่ายอมรับสภาพสัดส่วนถือหุ้นลดลงเหลือ 15% จาก 25% เหตุต้องใช้ภาษีประชาชนมาให้เอกชนเพื่อจ่ายหนี้คืนเจ้าหน้าอาจไม่เหมาะสม
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะมีการพิจารณาว่ารฟม.จะร่วมเพิ่มทุนตามที่บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จากเดิม 11,950 ล้านบาท เป็น 20,500 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 8,550 ล้านหุ้น หรือไม่โดยปัจจุบัน รฟม.ถือหุ้นใน BMCL สัดส่วน 25% โดยหาก รฟม.ตัดสินใจร่วมเพิ่มทุนกับ BMCL
เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นให้อยู่ที่ 25% ต่อไป จะต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้านบาท และต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติงบลงทุน เนื่องจาก รฟม.ยังไม่เงินมากพอที่จะไปร่วมเพิ่มทุนในอัตราดังกล่าว แต่หาก รฟม.ไม่ร่วมเพิ่มทุนสัดส่วนการถือหุ้นของรฟม.จะลดลงเหลือประมาณ15%
ทั้งนี้ แนวโน้มที่รฟม.จะไม่ร่วมเพิ่มทุนกับ BMCL มีความเป็นไปได้สูง โดยต้องยอมรับสัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลง โดยปัจจัยประกอบการตัดสินใจ เป็นเรื่องที่ BMCL ยังมีภาระหนี้จำนวนมากที่ต้องแก้ไขก่อนจึงจะสามารถมีกำไรได้
ในขณะที่เงินจากการเพิ่มทุน BMCL ต้องการนำไปชำระหนี้ หากรฟม.ร่วมเพิ่มทุนจะต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปดำเนินการซึ่งอาจไม่เหมาะสมเพราะประโยชน์จะตกเป็นของเจ้าหนี้ของ BMCL
โดยหากจะร่วมเพิ่มทุนต้องเสนอครม.ขออนุมติ มีขั้นตอนยุ่งยาก และต้องตอบคำถามอีกมากมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)และสำนักงบประมาณ
คงไม่เหมาะเท่าไรถ้าจะนำเงินภาษีไปใช้โดยไม่ได้ผลตอบแทน เพราะ BMCL จะต้องชำระหนี้ให้หมดก่อน ไม่สามารถที่จะมีกำไรในทันทีได้ซึ่งกรณีไม่ร่วมเพิ่มทุนไม่ได้หมายความว่า BMCL ไม่ดี แต่ปัญหาขาดทุนมาจากแผนรถไฟฟ้าของรัฐบาลไม่เป็นไปตามแผน ทำให้จำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่ประมารการไว้ อย่างไรก็ตามการตัดสินใจของรฟม.จะมองประโยชน์ขององค์กรเป็นหลักก่อน
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ BMCL ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 คณะกรรมการของบริษัทฯ ได้มีมติเพิ่มทุน 8,550 ล้านบาท จากเดิม 11,950 ล้านบาท เป็น 20,500 ล้านบาท
มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยจะทำให้ส่วนทุนของ BMCL เพิ่มขึ้นเกือบ 9,000 ล้านหุ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 500 ล้านหุ้น ซึ่งจะทำให้หนี้สินต่อทุน(DE) ลดลงเหลือ 1:1 จากเดิมสูงเกิน10 เท่า โดย BMCLได้จัดสรรการจำหน่าย
หุ้นเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 จำหน่ายให้ผู้ถือหุ้นเดิม2,000 ล้านหุ้น ซึ่งจะนำเงินที่ได้มาปรับปรุงการให้บริการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล และบริหารจัดการงานเดินรถสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ที่ BMCL เป็นผู้รับงานและได้ลง
นามในสัญญาไปเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา รวมทั้งเตรียมไว้สำหรับรองรับงานเดินรถไฟฟ้าสายอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนที่ 2 จัดสรรจำหน่ายให้บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK จำนวน 4,200ล้านหุ้น โดยจะนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ให้กับ CK ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักด้านเงินกู้ให้กับ BMCL ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท รวมเงินต้นและดอกเบี้ย
ปัจจุบันเป็นเงิน 4,200 ล้านบาท ซึ่งการชำระหนี้ส่วนนี้จะทำให้ BMCL ลดต้นทุนการดำเนินงานได้อีก 200 ล้านบาทต่อปี
ส่วนที่ 3 จัดสรรจำหน่ายให้กับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ BMCL 4 ราย คือ กรุงไทย ทหารไทย ธนชาติและกรุงศรีอยุธยา จำนวน 2,350 ล้านหุ้น โดยเงินที่ได้จะใช้ชำระดอก เบี้ยค้างจ่ายและค่าปรับปรุงตารางการชำระเงินทั้ง 4 ธนาคารรวม 2,350 ล้านบาท ดังนั้นก็จะเหลือภาระหนี้คือเงินต้น10,000 ล้านบาท ซึ่งในวันที่11 พฤศจิกายนนี้ BMCLจะนำมติบอร์ดดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป