ไทย-ภูฏานลงนามความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้น “นิวัฒน์ธำรง” เผยไทยสามารถใช้ภูฏานเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปยังประเทศที่ภูฏานมี FTA ทั้งอินเดีย บังกลาเทศ และปากีสถาน พร้อมมีโอกาสเข้าไปลงทุนโรงงานผลิตไฟฟ้า และธุรกิจบริการ
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้ (14 พ.ย.) ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทยและภูฏานกับ H.E. Mr. Lyonpo Norbu Wangchuk รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการของภูฏาน เพื่อเพิ่มความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การท่องเที่ยว ก่อสร้าง สุขภาพและการรักษาพยายาล การศึกษา พลังงาน ลอจิสติกส์ รวมทั้งการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม และยังได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) เพื่อเป็นเวทีสำหรับทั้งสองประเทศในการทบทวนพัฒนาการด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งหารือถึงแนวทางขยายการค้าระหว่างกันด้วย
ทั้งนี้ จากความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนและทำการค้ากับภูฏานและประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับภูฏานได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันภูฏานได้มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ เช่น อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน เป็นต้น และยังเป็นสมาชิกความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค เช่น SAARC และ BIMSTEC ซึ่งไทยสามารถใช้ภูฏานเป็นฐานในการผลิตและส่งออกไปยังประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีได้ และจะง่ายกว่าการเข้าไปตั้งธุรกิจในประเทศเหล่านั้น
ขณะเดียวกันยังมีโอกาสในการเข้าไปลงทุนในหลายกิจการ โดยเฉพาะโครงการใหญ่ที่สำคัญและกำลังจะเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ คือ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 10,000 เมกะวัตต์ และจะขยายเป็นอีก 3 เท่าในอนาคตเพื่อส่งไปขายต่อยังอินเดียและประเทศเพื่อนบ้าน โดยขณะนี้มีอินเดียเป็นนักลงทุนรายใหญ่ นอกจากนั้นยังเปิดกว้างสำหรับธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไทยมีจุดแข็ง คือ ด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษา การท่องเที่ยว รีสอร์ต ร้านอาหาร และธุรกิจบริการในด้านอื่นๆ
สำหรับกิจการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ เช่น การพัฒนาส่งออกพลังงานน้ำ ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ การพัฒนาศูนย์การศึกษาในประเทศ ศูนย์ผลิตพืชออแกนิก ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น ก็เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนได้
นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ถึงแม้ภูฏานจะเป็นประเทศเล็ก ไม่มีทางออกทะเล แต่เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย โดยในปี 2556 ภูฏานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 153 ของไทย
ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) การค้ารวมเฉลี่ยมีมูลค่า 12.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 134 ของไทย มีมูลค่าเฉลี่ย (2551-2555) 11.94 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 180 ของไทย มีมูลค่าเฉลี่ย (2551-2555) 0.15 ล้านเหรียญสหรัฐ
สินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปภูฏาน ได้แก่ สิ่งทอ รถยนต์และอุปกรณ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผ้าผืน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น สินค้านำเข้าจากภูฏานที่สำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และสิ่งพิมพ์ เป็นต้น