นายกฯ และ รมว.กห.ต้อนรับนายกฯ ภูฏานเยือนไทย นำเดินตรวจทหารกองเกียรติยศ ก่อนหารือกระชับความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และวิชาการ เป็นสักขีพยานลงนามความร่วมมือระหว่างสองชาติ
วันนี้ (13 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับนายเชอริง ต๊อบเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏานในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่าง วันที่ 13-16 พฤศจิกายนนี้ ในฐานะแขกของรัฐบาล
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้นำนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาณตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ ที่สนามหญ้า หน้าตึกไทคู่ฟ้า ก่อนลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายมอบให้ ณ ห้องสีงาช้างด้านนอก ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
จากนั้นเป็นการหารือข้อราชการเต็มคณะ กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือทางวิชาการ รวมทั้งจะเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทยและภูฏาน พร้อมกันนี้นายกฯ ได้ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า
ด้าน นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือ ระหว่างนางสาวยิ่งลักษณ์ กับนายเชอริ่ง ในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการครบรอบ 24 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและภูฏาน โดยยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มีการเติบโตในทุกสาขา รวมถึงราชวงศ์และประชาชนต่างมีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมโดยเชื่อมผ่านพุทธศาสนา ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลไทยพร้อมขยายความร่วมมือกับภูฏานในทุกมิติ
ทั้งนี้ ทั้ง 2 ประเทศ มีการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มพูนมูลค่าการค้าระหว่างกัน หลังจากปี 2012 การค้าระหว่างไทยและภูฏานมีมูลค่า 15.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการภูฏาน ร่วมลงนามร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลไทยและภูฏาน (Trade Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Royal Government of Bhutan)
มีสาระสำคัญครอบคลุมสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ซึ่งมีรูปแบบและสาระสำคัญคล้ายคลึงกับความตกลงฯ ที่ไทยทำกับประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วย
1. ความร่วมมือด้านการค้า/การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การท่องเที่ยว การก่อสร้าง ด้านสุขภาพ/การรักษาพยาบาล การศึกษา ด้านพลังงาน ด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
2. การยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่นำเข้ามาชั่วคราวเพื่อใช้เป็นตัวอย่าง/สินค้าโฆษณาที่ไม่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ เครื่องมือ/ชิ้นส่วนสำหรับการประกอบและซ่อมแซม และสินค้าสำหรับแสดงในงานแสดงสินค้าซึ่งจะต้องส่งกลับไป (Re-export) โดยให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบภายในของแต่ละภาคี
3. การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) เพื่อทบทวนการดำเนินการตามความตกลงทางการค้าฉบับนี้ พิจารณาแนวทางขยายการค้าระหว่างกัน และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการค้าระหว่างกัน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยและรัฐมนตรีเศรษฐกิจของภูฏานเป็นหัวหน้าคณะกรรมการร่วมดังกล่าว
4. การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการติดต่อทางธุรกิจระหว่างบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนและส่งเสริมการเปิดสาขาธุรกิจในแต่ละภาคี โดยให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบภายในของแต่ละภาคี
นายธีรัตถ์ กล่าวว่า ด้านการลงทุนนายกรัฐมนตรีขอให้ภูฏานให้ข้อมูลเกี่ยวกับด้านการลงทุนในภูฏานแก่ภาคเอกชนไทย เพื่อแสวงหาการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค และธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีภูฏานได้ขอบคุณภาคธุรกิจไทยที่เริ่มไปลงทุนในภูฏานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจบริการท่องเที่ยว
นอกจากนี้อยากเห็นการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวไทยไปยังภูฏานมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีเพียง 3,600 คนเท่านั้น ขณะที่ชาวภูฏานเดินทางมาไทยถึงปีละ 22,000 คนเพื่อพักผ่อน บริการทางการแพทย์ ซื้อหาสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีประชากร 700,000 คน
ส่วนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นายกรัฐมนตรีภูฏานแสดงความขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แก่ภูฏาน ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ การศึกษา สุขภาพ วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ การจัดการ การท่องเที่ยว คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี โดยนายกรัฐมนตรีภูฏานขอให้ไทยจัดทุนการศึกษาให้กับชาวภูฏานเพื่อให้การให้การฝึกอบรมนักบินแก่ภูฏานด้วย
นายธีรัตน์ กล่าวต่อว่า ด้านความร่วมมือทางการเกษตร ไทยและภูฏานได้ลงนามความตกลงความร่วมมือทางการเกษตรเมื่อปี 2011 และมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีหวังเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการเกษตร การประมงและ ปศุสัตว์ โดยให้มีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน
“ความร่วมมือในระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรียินดีที่ภูฏานมีบทบาทสำคัญในเวทีความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรม ทั้งนี้ไทยหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากภูฏาน ในการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA กับ BIMSTEC ขณะที่ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ ACD ครั้งที่ 2 ในเดือนมีนาคม 2015 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ความสำคัญต่อประเด็นการสร้างความเชื่อมโยงของภูมิภาค ซึ่งไทยพร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรีภูฏานในการร่วมประชุมดังกล่าวด้วย" นายธีรตถ์ กล่าว