วุฒิสภารุมสับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม “ส.ว.ไพบูลย์” ชี้ส่อล้างผิด “นช.แม้ว” แถมได้เงินคืน 5.7 หมื่นล้าน “ส.ว.เจตน์” เชื่อท้าทายม็อบยิ่งทำคนร่วม จี้นายกฯ ลงมาดู ขณะที่ ส.ว.สรรหาบางส่วนค้านไทยตั้ง กก.ร่วมเขมรดูคำพิพากษาพระวิหาร แนะอย่าเพิ่งประกาศรับคำตัดสินศาลโลก
วันนี้ (21 ต.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.45 น. การประชุมวุฒิสภา โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ส.ว.กลุ่ม 40 ได้หารือถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลัการ ในวาระที่ 1 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กลางซอย หรือร่างนิรโทษกรรม ตอนนี้ไม่เพียงแต่สุดซอย แต่ได้ทะลุซอยไปแล้ว โดยมีผลให้กับแกนนำและผู้ที่อยู่ต่างประเทศ ตอนแรกบอกว่าให้ประชาชนที่มาชุมนุมเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับแกนนำและผู้สั่งการ แต่ถึงเวลาก็ปลิ้นปล้อนตลบตะแลงออกมาในรูปนี้และที่เย้ยหยันว่าม็อบจุดไม่ติด ตนคิดว่าขณะนี้จุดติดแล้ว การต่อสู้ก็จะย้ายจากในสภาแล้วไปต่อสู้บนพื้นถนน และจะได้เห็นกันในระยะใกล้นี้ คนเผาบ้านเผาเมือง เผาศาลกลาง ยิงเอ็ม 79 โกงบ้านโกงเมืองก็พ้นผิด ถือเป็นกฎหมายศาลเตี้ยมีผลในการสั่งสมความคั่งแค้นของประชาชนเมื่อถึงจุดที่ทนไม่ได้ก็จำเป็นรต้องมีปฏิบัติการที่ไกลไปกว่าที่ผู้ปกครองบ้านเมืองคาดหมายได้
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ ประชาธิปไตยว่าเป็นอำนาจของประชาชนหรือนักการเมือง โดย ร้อยละ 62.5 เห็นว่าเป็นประชาธิปไตยของนักการเมืองเท่านั้น มีเพียงร้อยละ 37.5 ยังเข้าใจผิดอยู่ นึกว่าประชาธิปไตยเป็นของประชาชนอยู่ เพราะระบบพรรคยังเป็นเจ้าของคนเดียว เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม ซึ่งรัฐบาลที่มาจากเจ้าของพรรคคนเดียวถือเป็นรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ส.ส.ที่สังกัดพรรคนี้ก็ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เราต้องช่วยกันกระชากหน้ากากประชาธิปไตยจอมปลอม และสังคมควรตั้งข้อรังเกียจด้วย
ล่าสุดพรรคเพื่อไทยได้ออกกฎหมายล้างผิดให้เจ้าของพรรคคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฉบับสุดซอยหรือจนตรอกเพื่อล้างทุกคดีทุจริตของเจ้าของพรรค นำเงินของแผ่นดิน 50,000 กว่าล้านบาทไปจ่ายให้เจ้าของพรรคกลับมาเป็นนายกฯ ได้ จนตรอกกระทั่งยอมเปิดเผยตัวตน หลอกประชาชนว่าเป็นนักประชาธิปไตย ทำเพื่อประชาชน ตนขอเรียกร้องให้ประชาชนที่รักชาติ รักระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข ออกมายุติการกระทำของพรรคที่มีเจ้าของคนเดียวให้ได้โดยเร็ว
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนไม่สบายใจที่กรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเสียงข้างมากลงมติเสียงในมาตรา 3 ที่ขัดกับหลักการและเหตุผลของร่างดังกล่าว ที่ต้องการล้างผิดทางการเมืองให้กับประชาชนทุกสีทุกกลุ่มจากการชุมนุมทางการเมือง โดยไม่นิรโทษกรรมให้กับแกนนำ แต่ก็มีการแก้นิรโทษกรรมความผิดทางอาญา ภายหลังที่ศาลตัดสินยึดทรัพย์บุคคลคนเดียวที่ไม่เกี่ยวกับการชุมนุม อาจต้องคืนเงินรวมดอกเบี้ยแล้วเป็นเงิน 60,000 ล้านบาท ซึ่งคนไทยทุกคนจะต้องรับภาระหนี้จำนวนนี้เฉลี่ยคนละ 1,000 บาท
ทั้งนี้ การพิจารณากฎหมายลักษณะนี้จะสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานรัฐบาล ที่มีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันมากมาย เหมือนกับเป็นการท้าทายม็อบขณะนี้ที่ชุมนุมบริเวณแยกอุรุพงษ์ และสวนลุมฯ ที่ผ่านมารัฐบาลมีปัญหาการปูนบำเหน็จให้แก่พวกของตัวเอง การใช้นโยบายประชานิยมที่สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติ เช่น การจำนำข้าวที่ล้มเหลว แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมหยุดโครงการ การออกกฎหมายกู้เงินที่ไม่คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง การแก้รัฐธรรมนูญที่มีปัญหามากมาย ซึ่งพรรคเสียงข้างมากก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงหนุนหลัง ฝ่ายค้าน และม็อบ คปท.ก็จะเป่านกหวีดประกาศระดมคนให้มาต่อต้านในวันที่ร่างกฎหมายจะเข้าสภาฯ หากเกิดการปะทะเลือดตกยางออกจนเป็นวิกฤตของชาติ รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ตนขอเสนอให้นายกฯ ต้องลงมาแก้ไขปัญหาโดยรีบด่วนก่อนที่วิกฤตการเมืองจะลุกลามใหญ่โตออกไป หากใช้เสียงข้างมากในสภาแก้ไขปัญหาไม่ได้ ตนขอเสนอให้ยุบสภาหรือลาออกไปเลย
นอกจากนี้ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา หารือว่า กรณีคำพิพากษาคดีเขาพระวิหารนั้น ตนไม่เห็นด้วยที่นายสุรพงศ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ที่จะเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ อย่ากระเหี้ยนกระหือรือที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษา สิ่งที่ควรทำคือการตั้งคณะกรรมการฝ่ายไทยฝ่ายเดียว เพื่อศึกษาคำพิพากษาก่อนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกอย่าเพิ่งด่วนพูดว่าจะปฏิบัติตามพิพากษาหรือไม่ เราควรศึกษาให้รอบคอบ คณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วน หากมีความไม่แน่ใจในประเด็นใดให้ถามประชาชนผ่านการลงประชามติ
“ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยไม่ได้รับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมาแล้วตั้งแต่ปี 2503 หรือ 51 ปี ก่อนกัมพูชายื่นขอตีความคำพิพากษาปี 2505 หรือ 49 ปีหลังมีคำพิพากษาปี 2505 แม้จะอ้างว่าเป็นขอตีความคำพิพากษาเดิมตามธรรมนูญศาลข้อ 60 ซึ่งประเทศไทยยังคงจะต้องผูกพันอยู่ก็ตาม แต่มีข้อสังเกต 2 ประการ คือ 1. เป็นดคีที่ยาวนานที่สุดใน 4 คดี ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีการรับตีความ นานที่สุดก่อนหน้านี้คือ 4 ปี 2. จะต้องศึกษาถึงมาตรฐานในการตีความคำพิพากษาตามธรรมนูญศาลข้อ 60 ใน 4 คดีที่ผ่านมา กล่าว คือ (1. คดีการให้ลี้ภัยระหว่างโคลอมเบียกับเปรู ปี 1950 (2. คดีไหล่ทวีประหว่างตูนิเซียกับลิเบียปี 1984 (3. คดีเขตแดนทางบกและทางทะเลระหว่างแคเมอรูนกับไนจีเรียปี 1998 และ (4. คดีอัลรีนาและชาวเม็กซิโก, ระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐฯ ปี 2008-2009 ต้องดูว่าคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในครั้งนี้ดำเนินการไปตามมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ หรือนอกมาตรฐาน และมีความยุติธรรมเพียงพอหรือไม่ อย่าด่วนพูดว่าจะต้องปฏิบัติตาม” นายคำนูณกล่าว