ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.ฟันธงราคาน้ำมันดิบดูไบปีหน้าเฉลี่ย 104 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงเล็กน้อยจากปีนี้ แต่มีความเสี่ยงจากเหตุการณ์ขัดแย้งตะวันออกกลางกดดันให้ราคาน้ำมันดิบลดลงไม่มาก นักวิชาการชี้ไทยควรปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เหมาะสมโดยเฉพาะดีเซลที่ไทยขายต่ำสุดในอาเซียน เผยไม่เห็นด้วยการสำรองน้ำมันยุทธศาสตร์ 90 วัน ชี้ไทยไม่ใช่ประเทศใช้น้ำมันรายใหญ่และไม่ได้ร่ำรวย
นายสุรงค์ บุลกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยทิศทางและแนวโน้มสถานการณ์น้ำมันของโลกในปี 2557 ในงาน The Annual Petroleum Outlook Forum - “แนวโน้มราคาน้ำมันโลกปี 2014 และทิศทางน้ำมันเชื้อเพลิงไทยในอนาคต ร่วมกับทีมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันกลุ่ม ปตท. หรือ PRISM (Petrochemicals and Refining Integrated Synergy Management) ว่า ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปี 2557 คาดว่าจะยังคงผันผวนและทรงตัวอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 90-112 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบปีหน้าคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 104 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดเล็กน้อยจากปีนี้ที่เฉลี่ย 105 เหรียญสหรัฐ เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่โอเปก (นอนโอเปก) จะเพิ่มขึ้นอีก 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกปีหน้าคาดว่าจะโตขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว 3.4% ดีขึ้นกว่าปีนี้ แต่ปัจจัยความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงมีอยู่ ซึ่งเป็นตัวกดดันให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงได้ไม่มาก
อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าราคาน้ำมันดิบมีโอกาสเคลื่อนไหวเกินกรอบที่คาดการณ์ไว้ได้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างไรก็ดี คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
ในปี 2557 ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะอยู่ที่ 91 ล้านบาร์เรล/วัน จากปีนี้อยู่ที่ 90 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งความต้องการส่วนเพิ่มนั้นยังคงมาจากภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก นำโดยประเทศจีนที่จะแซงหน้าสหรัฐฯ ในการนำเข้าน้ำมัน และประเทศในตะวันออกกลางก็มีการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปีหน้าความต้องการใช้น้ำมันของประเทศกำลังพัฒนาจะมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วเป็นครั้งแรก ขณะที่กำลังการผลิตจากกลุ่มนอกโอเปกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้โอเปกอาจต้องลดกำลังการผลิตน้ำมันลงเพื่อให้เกิดความสมดุลในตลาด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการหันไปใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้น หลังรัฐบาลดำเนินนโยบายพลังงานทางเลือกและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
“ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ต้องการให้ทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการโรงกลั่น สังคม และประชาชน ได้เข้าใจถึงกลไกที่แท้จริงของพลังงาน เพื่อนำไปสู่การลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ก่อนการเข้าสู่เขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)”
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณาปรับโครงสร้างพลังงานให้เหมาะสม โดยเฉพาะภาษีดีเซล เพราะลดภาษีสรรพสามิตมานานกว่า 2 ปีครึ่ง คิดเป็นเงินอุดหนุนหรือรัฐสูญเสียภาษีถึง 3 แสนล้านบาทแล้ว รัฐบาลน่าจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้ช่วยเหลือประชาชนในด้านอื่นดีกว่า ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการศึกษา หรือสร้างโรงพยาบาล
“การอุดหนุนราคาดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรเป็นราคาถูกที่สุดในอาเซียน นับว่าผู้ใช้น้ำมันดีเซลเป็นอภิสิทธิชนเสียภาษีน้อยมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลเสียต่อระบบลอจิสติกส์ของไทย ทำให้ยอดใช้ดีเซลเพิ่มจาก 50 ล้านลิตรเป็น 60 ล้านลิตรต่อวัน” นายมนูญกล่าว
นายมนูญกล่าวด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่จะเพิ่มสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เป็น 90 วัน โดยต้องถามว่าประเทศไทยจำเป็นหรือไม่ เพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ และไม่ได้ร่ำรวยเช่นจีน ญี่ปุ่น การลงทุนสูงเช่นนั้น จึงไม่น่าจะสูงถึง 90 วัน นอกจากนี้ สงครามในโลกปัจจุบันก็ไม่ได้ยืดเยื้อนาน 90 วัน หากปิดช่องแคบฮอร์มุสในตะวันออกกลางก็จะปิดเป็นระยะสั้นๆ เท่านั้น โอกาสที่จะใช้สำรองยุทธศาสตร์เกิน 45 วันจึงเป็นไปไม่ได้ แต่ก็เห็นด้วยที่เพิ่มสำรองน้ำมันทางกฎหมายของเอกชนจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 6 จาก 36 วันเป็น 43 วัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องอธิบายและสร้างความเข้าใจต่อประชาชนคือ ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันจะทำอย่างไรให้โปร่งใส
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเช่นกันในเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนข้อเท็จจริงทั้ง สูตรราคาแอลพีจี ก๊าซเอ็นจีวี กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกรณีดีเซลน่าจะปรับภาษีขึ้นและหากปรับขึ้นไปราคาก็จะอยู่ที่ประมาณ 33-34 บาท/ลิตร ซึ่งหากดีเซลและแอลพีจีปรับราคาเหมาะสมแล้ว ในส่วนเบนซินก็จะสามารถลดราคาลงมาได้ โดยปรับลดเงินกองทุนน้ำมันของเบนซินลงมา เพราะอัตราที่เก็บ 10 บาท/ลิตร เป็นอัตราสูงเกินไป