ASTVผู้จัดการรายวัน - “บวร” ซีอีโอ PTTGC คนใหม่ย้ำสานต่อนโยบายเดิมสร้างความแข็งแกร่งของบริษัทเพื่อก้าวสู่บริษัทชั้นนำของโลก เผยไตรมาส 3 นี้เจอปัจจัยลบเพียบ ทั้งน้ำมันรั่ว ต้องบันทึกสำรองค่าใช้จ่าย 700-1,000 ล้านบาท การปิดซ่อมโรงงานเม็ดพลาสติก LDPE และโรงแยกก๊าซฯ 5 ปิดซ่อม แต่ยังคงเป้าหมายปีนี้มี EBITDA โต 10% จากปีก่อน
นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2556 ว่า ในไตรมาส 3 นี้บริษัทจะบันทึกสำรองความเสียหายและค่าใช้จ่ายในการเยียวยาจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วนอกชายฝั่ง จ.ระยอง เป็นวงเงินประมาณ 700-1,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มียอดผู้ขอรับการชดเชยค่าเสียหายประมาณ 1.6 หมื่นราย แต่ได้รับการชดเชยไปแล้ว 40% หรือประมาณ 5 พันกว่าราย คิดเป็นเงิน 400-500 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบจากเหตุการณ์โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE) ปิดซ่อมตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมาเป็นเวลา 3-4 เดือน ซึ่งกระทบกำไร 600 ล้านบาท และโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 5 ของ ปตท.ถูกฟ้าผ่าเมื่อกลางเดือน ส.ค. ทำให้กระทบต่อการป้อนอีเทนที่ใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานโอเลฟินส์แครกเกอร์ล้านตัน ส่งผลให้บริษัทต้องลดกำลังการผลิตโรงงานดังกล่าวลงมา ล่าสุดโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 5 กลับมาผลิตได้อีกเมื่อเดือนตุลาคมนี้นับว่าเร็วกว่ากำหนด แต่โรงแยกก๊าซฯ หน่วย 5 ยังเดินเครื่องจักรอยู่เพียง 50% ของกำลังการผลิตรวม โดยมีผลกระทบต่อรายได้บริษัทฯ 800 ล้านบาท
แต่บริษัทยังคงเป้ารายได้และกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสี่อมและภาษี (EBITDA) ในปีนี้เติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 5.62 แสนล้านบาท และ EBITDA 5.58 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะต้องประสบปัญหาดังกล่าวข้างต้นก็ตาม
“จากเหตุการณ์ทั้ง 3 ที่เกิดขึ้นในปีนี้ทำให้กระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทฯ อย่างแน่นอน แม้ว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วจะมีการทำประกันภัยไว้แล้วแต่ก็ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทำให้ลดการใช้พลังงานลง 2% ซึ่งจะมาชดเชยกำไรที่ลดลง ดังนั้นยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่าปีนี้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิลดลงจากปีก่อนหรือไม่ ต้องรอดูผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 และไตรมาส 4 นี้ว่าจะมีผลดำเนินงานออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งปกติไตรมาส 4 จะเป็นไตรมาสช่วงไฮซีซัน โดยราคาน้ำมันเครื่องบินปรับตัวดีขึ้น และราคาพาราไซลีนและเบนซีนยังดีอยู่ รวมทั้งราคาเม็ดพลาสติกHDPE สูงถึง 1.6 พันเหรียญสหรัฐ/ตัน”
สำหรับปีหน้าคาดว่าราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์น่าจะอ่อนตัวลงจากปีนี้เนื่องจากมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามา ขณะที่ราคาโอเลฟินส์เองก็น่าจะใกล้เคียงปีนี้ แม้ว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มแต่ความต้องการใช้ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปีหน้าแนวโน้มปรับตัวลงเล็กน้อยอยู่ที่ 102 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปีนี้เฉลี่ยน้ำมันดิบอยู่ที่ 100-108 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายบวรกล่าวว่า ในฐานะซีอีโอ PTTGC คนใหม่ยังคงสานต่อกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจเหมือนเดิม โดยสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจในปัจจุบัน ขยายธุรกิจต่อเนื่องสู่ภูมิภาคและผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Business) ซึ่งบริษัทฯ ได้นำระบบการบริหารจัดการเพื่อผลักดันและยกระดับผลการปฏิบัติงานในด้านความปลอดภัย สุขภาพและสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดต้นทุน เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศในระดับโลกอย่างยั่งยืน
ซึ่งเหตุการณ์น้ำมันรั่วในทะเลจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยยังคงนโยบายลงทุน 5 ปีอยู่ที่ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่องในประเทศ เช่น โครงการก่อสร้างโรงฟีนอลแห่งที่ 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาส 3/58 โครงการขยายกำลังการผลิตโรงอะโรเมติกส์ 2 แล้วเสร็จไตรมาส 2/58 และอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการขยายกำลังการผลิตโรงโอเลฟินส์แห่งที่ 3 และโรงงานต่อเนื่อง
สำหรับการลงทุนในต่างประเทศนั้น บริษัทฯ คาดว่าจะลงนามสัญญาการร่วมทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์กับเปอร์ตามินา ประเทศอินโดนีเซียได้ในปลายปีนี้ มูลค่าโครงการ 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ว่าจะลงทุนโครงการใดบ้าง รวมทั้งการหาพันธมิตรเข้าร่วมทุนด้วย เช่นเดียวกับการร่วมทุนกับซิโนเคมของจีนที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายในจีน
ส่วนความคืบหน้าโครงการลงทุนปิโตรเคมีขั้นปลายร่วมกับบริษัท ปิโตรนาส ของมาเลเซีย คงต้องเลื่อนออกไป 1 ปีเป็นปลายปีหน้าแทน ซึ่งโครงการนี้บริษัทฯ หวังฟีดสต๊อกมาใช้ลงทุนผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการตั้งโรงงานผลิตไบโอพลาสติกชนิด PLA ของเนเชอร์เวิร์คส ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงทุนในไทยเมื่อใด จากก่อนหน้านี้เคยตั้งเป้าหมายจะมีความชัดเจนการลงทุนในปลายปี 2556