xs
xsm
sm
md
lg

"รอยเตอร์"เผยข้อมูลน่ารู้ของ"เจเน็ต เยลเลน"ว่าที่ประธานเฟด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้จัดพิธีที่ทำเนียบขาวเมื่อวานนี้เพื่อแต่งตั้ง  นางเจเน็ต เยลเลน รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นประธานเฟดคนต่อไป
        หากได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากวุฒิสภา นางเยลเลนก็จะดำรงตำแหน่งประธานเฟดเมื่อวาระการดำรงตำแหน่งของนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดคนปัจจุบัน สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ม.ค.2014        
        ข้อมูลสำคัญ 5 ประการเกี่ยวกับนางเยลเลน:-
         --ถ้าหากวุฒิสภาให้การรับรอง นางเยลเลนซึ่งมีอายุ 67 ปีก็จะเป็นสตรีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดในรอบ 100 ปีของเฟดและเป็นสตรีคนที่สองที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำธนาคารกลางของประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนสตรีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้คือนางเอลวิรา นาบิลลินา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางรัสเซียในเดือนมิ.ย.
        --นางเยลเลนมีแนวคิดแบบสายพิราบในการกำหนดนโยบายการเงิน หรือมีแนวคิดสนับสนุนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยชื่นชอบมาตรการต่างๆในการทำให้อัตราการว่างงานลดลง ถึงแม้การกระทำดังกล่าวอาจส่งผล ให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่นางเยลเลนเคยกล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าเป้าหมายสองประการของเฟดมักจะขัดแย้งกันเองเป็นประจำ โดยเขากล่าวในปี 1995 ว่า "เมื่อเป้าหมายสองประการขัดแย้งกัน และเฟดจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างยากลำบากในการเลือกเพียงเป้าหมายเดียว ฉันก็คิดว่านโยบายที่ชาญฉลาดและมีมนุษยธรรมก็คือการปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อปรับ ตัวขึ้นเป็นครั้งคราว ถึงแม้อยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายก็ตาม"
        --นางเยลเลนมีประสบการณ์ในการกำหนดนโยบายมาเป็นเวลายาวนาน โดยก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานเฟดในปี 2010 นางเยลเลนเคยดำรงตำแหน่งประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโกในปี 2004-2010 และดำรงตำแหน่งผู้ว่าการในคณะกรรมการเฟดระหว่างปี 1994-1997 นอกจากนี้ นางเยลเลนยังเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีบิล คลินตันในปี 1997-1999 ด้วย
        --นางเยลเลนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ฉลาด และได้รับความนับถือเป็นอย่างสูง โดยจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเยล และเคยสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์คลีย์, ฮาร์เวิร์ด และลอนดอน สกูล ออฟ อิโคโนมิคส์ นอกจากนี้ นางเยลเลนยังเคยตีพิมพ์รายงานวิจัยในหัวข้อที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงหัวข้อแก๊งอันธพาลวัยรุ่น, แม่ที่เลี้ยงลูกตามลำพัง, นโยบายการเงินที่ดีที่สุด, การขาดความยืดหยุ่นด้านราคาและค่าจ้าง และการค้า
     --นางเยลเลนแต่งงานกับนายจอร์จ อาเคอร์ลอฟ นักเศรษฐศาสตร์ ที่เคยคว้ารางวัลโนเบล โดยนางเยลเลนพบกับเขาในฤดูใบไม้ร่วงปี 1977 เมื่อทั้งสองทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในเฟด และได้แต่งงานกันในเดือน   มิ.ย.1978 ขณะที่เขาได้ลาออกจากเฟดเพื่อไปทำงานสอนหนังสือที่ลอนดอน สกูล ออฟ อิโคโนมิคส์ นอกจากนี้ นางเยลเลนยังเคยช่วย
    นายอาเคอร์ลอฟเขียนรายงานหลายฉบับด้วย ทั้งสองมีบุตรชายคนหนึ่ง  ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย
          4 ปัญหาใหญ่รอ"เยลเลน"แก้ไขเมื่อนั่งเก้าอี้ปธ.เฟด
        ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้จัดพิธีที่ทำเนียบขาวเมื่อวานนี้เพื่อแต่งตั้ง นางเจเน็ต เยลเลน รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นประธานเฟดคนต่อไป 
       หากได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากวุฒิสภา นางเยลเลนก็จะดำรงตำแหน่งประธานเฟดเมื่อวาระการดำรงตำแหน่งของนายเบน เบอร์นันเก้   ประธานเฟดคนปัจจุบัน สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ม.ค.2014  
        ทั้งนี้ นางเยลเลนจะต้องเผชิญกับปัญหาที่ละเอียดอ่อนในด้านการกำหนดนโยบายในช่วงหลายปีข้างหน้า โดยเริ่มต้นด้วยปัญหาที่ว่า เฟดควรปรับลดวงเงินในมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงอย่างรวดเร็วเพียงใด
        ต่อไปนี้เป็นปัญหาในการกำหนดนโยบายที่สำคัญสำหรับนางเยลเลน:-
             *งบดุลเฟดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก
    หลังจากเฟดดำเนินมาตรการ QE ไปแล้ว 3 รอบในช่วงที่ผ่านมา งบดุลของเฟดก็มีวงเงินพุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เทียบกับระดับปกติที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์  ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนกังวลว่า การที่เฟดถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ, หลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) และตราสารหนี้อื่นๆเป็นจำนวนมาก อาจเป็นการกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อในช่วงหลายปีข้างหน้า และอาจก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์ และบิดเบือนระบบตลาด
        เฟดยังคงเข้าซื้อตราสารหนี้ในอัตรา 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ในปัจจุบัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการเติบโตทาง เศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เฟดต้องการที่จะเริ่มต้นปรับลดขนาด QE ลง โดยนายเบอร์นันเก้กล่าวในเดือนมิ.ย.ว่า เฟดคาดว่าจะปรับลด QE ในปีนี้ และจะยุติ QE ทั้งหมดภายในช่วงกลางปีหน้า
        ความยากลำบากที่นางเยลเลนต้องเผชิญก็คือการที่เขาต้องปรับลดขนาด QE ลงโดยไม่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินหรือเป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐมักจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันทั้งในสหรัฐและในต่างประเทศ
             *การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
        เครื่องมือหลักในการกำหนดนโยบายของเฟดคืออัตราดอกเบี้ยระยะสั้น  และเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงสู่ระดับใกล้ 0 % นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2008 ขณะที่เฟดคาดการณ์ว่าจะคุมเข้มนโยบายการเงินครั้งแรก หรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปี 2015 อย่างไรก็ดี การคาดการณ์นี้   อาจเปลี่ยนแปลงไป ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อหรืออัตราการว่างงานในสหรัฐปรับตัวออกห่างจากตัวเลขคาดการณ์
        เฟดระบุว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันอย่างน้อยจนกว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ 6.5 % และตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อไม่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นเหนือ 2.5 % อย่างไรก็ดี ถ้าหากนักลงทุนเริ่มคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นในเวลาที่เร็วกว่าที่เฟดคาดการณ์ไว้ ต้นทุนการกู้ยืมทั่วทั้งระบบก็จะดีดตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
        ถึงแม้เฟดกำหนดเกณฑ์อัตราการว่างงานที่ใช้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย   แต่นักลงทุนในตลาดการเงินก็ไม่แน่ใจในบางครั้งว่า สัญญาณชี้นำล่วงหน้าที่เฟดประกาศออกมานี้มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
        เมื่อนางเยลเลนได้เป็นประธานเฟด เขาก็จะมีบทบาทเป็นผู้นำในการชี้นำการคาดการณ์ของตลาด
             *การว่างงาน, ภาวะเงินเฟ้อ
        ขณะนี้ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงเกินไป และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเกินไป ดังนั้นเฟดจึงสามารถตัดสินใจได้อย่างง่ายดายในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษต่อไป
        ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อลดลงก่อนที่อัตราการว่างงานจะดิ่งลงอย่างเห็นได้ชัดผู้กำหนดนโยบายของเฟดก็จะเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากในเรื่องที่ว่าเฟดควรจะเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสกัดภาวะเงินฝืดและหนุนตลาด แรงงานหรือไม่
        แต่ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งขึ้นเหนือ 2.5 % ผู้กำหนดนโยบายก็จำเป็นต้องคุมเข้มนโยบายการเงิน ถึงแม้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงเกินไป
        อีกสิ่งหนึ่งที่อาจสร้างความยุ่งยากให้แก่ประธานเฟดคนใหม่ ก็คือการที่เฟดจะมีความสามารถเป็นครั้งแรกในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เฟดจ่ายให้แก่ธนาคารพาณิชย์ที่นำทุนสำรองส่วนเกินมาฝากไว้ที่เฟด โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะเป็นการสกัดกั้นทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์ไม่ให้ทะลักเข้าสู่ตลาด และเป็นการควบคุมการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี เฟดยังไม่เคยใช้เครื่องมือนี้มาก่อน
             *แผนยุทธศาสตร์ทางออกในระยะยาว
        ในระยะยาวนั้น เฟดจำเป็นต้องปรับลดขนาดงบดุลลงสู่ระดับปกติ โดยอาจใช้วิธีขายสินทรัพย์ออกมาหรือปล่อยให้ตราสารหนี้ครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งยิ่งเฟดปรับลดปริมาณการถือครองสินทรัพย์ลงอย่างรวดเร็วเพียงใด นโยบายการเงิน ก็จะยิ่งถูกคุมเข้มมากขึ้นเท่านั้น และตลาดจะได้รับแรงกดดันมากยิ่งขึ้นให้ปรับตัว รับสินทรัพย์ที่เข้ามาในตลาด
        การที่เฟดปรับลดขนาดงบดุลลงอาจส่งผลให้เฟดมียอดขาดทุน และทำให้เฟดต้องยุติการจัดส่งรายได้เข้าสู่กระทรวงการคลังสหรัฐ ซึ่งสิ่งนี้อาจส่งผลให้นักการเมืองโจมตีเฟด และต้องการลดความเป็นอิสระทางการดำเนินงานของเฟด
        ประธานเฟดคนใหม่จะต้องพยายามปกป้องความเป็นอิสระของเฟดเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
ทวีสุข ธรรมศักดิ์
Executive Vice President.
RHB-OSK Securities (Thailand)PLC
RHB Banking Group
กำลังโหลดความคิดเห็น