xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญเตือนภาคเอกชนตลาดเกิดใหม่เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        ตลาดหุ้นกู้เอกชนในประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีขนาด 1 ล้านล้านดอลลาร์ อาจจะเผชิญกับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ที่พุ่งสูงขึ้น ถ้าหากสกุลเงินรูเบิลของรัสเซียหรือเปโซของเม็กซิโกดิ่งลงอย่างรวดเร็ว และผลกำไรของภาคเอกชนที่อยู่ในรูปสกุลเงินดังกล่าว ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งเท่ากับภาระหนี้ที่อยู่ในรูปดอลลาร์
        ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พิจารณาว่าควรจะยุติมาตรการพิมพ์เงินใหม่เมื่อใด สกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ก็ได้ดิ่งลงสู่จุดต่ำสุดรอบหลายปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งสถานการณ์นี้ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ต่อหุ้นกู้เอกชน ในขณะที่ตลาดหุ้นกู้เอกชนได้พัฒนาจากตลาดที่เคยมีขนาด เล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดพันธบัตรรัฐบาล มาเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่าตลาดจังค์บอนด์ของสหรัฐในปัจจุบัน
        ประวัติศาสตร์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า การพุ่งขึ้นของดอลลาร์สามารถสร้างความเสียหายต่อตลาดเกิดใหม่ โดยทำให้ต้นทุนการชำระหนี้ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว
        ภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆนอกเหนือจากบริษัทเอกชนด้วย โดยการผิดนัดชำระหนี้ในภาคเอกชนอาจส่งผลให้เกิดการล้มละลายตามมารวมทั้งส่งผลให้ตลาดหุ้นดิ่งลง, มีการปลดพนักงานออก และสถานะของประเทศได้รับแรงกดดัน โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลของประเทศดังกล่าวจำเป็น ต้องเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤติเอเชียปี 1997
        ความอ่อนแอของภาคเอกชนคือหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้รัฐบาลรัสเซียใช้เงิน 2 แสนล้านดอลลาร์เพื่อปกป้องสกุลเงินรูเบิลในปี 2008 ส่วนในเม็กซิโกนั้น บริษัทอสังหาริมทรัพย์ 2-3 แห่งตกอยู่ในภาวะยากลำบาก ในปัจจุบัน โดยนักลงทุนถอนการลงทุนออกจากบริษัทดังกล่าว และปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นตามมาก็ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคอสังหาริมทรัพย์ เม็กซิโกพุ่งสูงขึ้นทั่วทั้งภาค และทำให้บริษัทอื่นๆประสบความยากลำบากในการกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชำระหนี้เก่า (รีไฟแนนซ์) ตามไปด้วย
        นายเซอร์โจ ไตรโก ปาซ หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ในบริษัทแบล็คร็อค กล่าวว่า "ภาคเอกชนก็เหมือนกับป๊อปคอร์น เพราะเมื่อบริษัทแห่งหนึ่งทรุดตัว บริษัทอื่นๆก็พากันทรุดตัวตามไปด้วย และสิ่งนี้ก็กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่มบริษัทผู้สร้างบ้านในเม็กซิโก"
        "ถ้าหากดอลลาร์แข็งค่าขึ้น รายได้ในรูปสกุลเงินท้องถิ่นก็จะไม่สามารถชดเชยการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้" นายไตรโก ปาซกล่าวเสริมภาวะเฟื่องฟูในตลาดตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจาก ภาวะชะงักงันในตลาดสินเชื่อธนาคาร ซึ่งเคยเป็นช่องทางที่บริษัทในตลาดเกิดใหม่มักจะใช้กู้เงินในอดีต
        ยอดขายหุ้นกู้เอกชนในตลาดเกิดใหม่พุ่งขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่ปี  2005 โดยดีดตัวขึ้นสู่สถิติสูงสุดที่ 2 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2012 และทะยานขึ้นสูงกว่านั้นอีกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยธนาคาร ไอเอ็นจีรายงานว่า ภาคเอกชนครองสัดส่วน 80 % ของตราสารหนี้ สกุลเงินแข็งทั้งหมดที่ออกจำหน่ายในปี 2013
        นายคอล์ม แมคโดนัฟ หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ในบริษัท อินไซท์ อินเวสท์เมนท์ กล่าวว่า บริษัทหลายแห่งในตลาดเกิดใหม่ได้ทำ ประกันความเสี่ยงสำหรับค่าเงินดอลลาร์ไว้แล้ว แต่เนื่องจากมีการคาดการณ์ กันว่าสกุลเงินของตลาดเกิดใหม่จะแข็งค่าขึ้น บริษัทบางแห่งจึงอาจไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงในส่วนนี้
        นายแมคโดนัฟซึ่งเพิ่มน้ำหนักการถือครองเงินสดในกองทุนของเขากล่าวว่า "ถ้าหากรายได้ของคุณอยู่ในรูปสกุลเงินเปโซ และคุณมีหนี้สินในรูปดอลลาร์ คุณจะทำประกันความเสี่ยงทุกครั้งหรือไม่ เพราะว่าต้นทุน อาจอยู่ในระดับที่สูงมาก"
        นายแมคโดนัฟตั้งข้อสังเกตว่า การกู้ยืมเงินจำนวนมากในระยะนี้มาจากบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในขั้น"ขยะ" โดยไอเอ็นจี  รายงานว่า เกือบ 40 % ของตราสารหนี้ที่จำหนา่ยในปีนี้เป็นตราสาร หนี้เกรดเก็งกำไร และเกือบ 1 ใน 4 เป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือใดๆ
        อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนพุ่งขึ้นเกือบ 0.5 % นับตั้งแต่ ต้นเดือนพ.ค. สู่ระดับ 3.74 % เหนืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยความต้องการทำประกันความเสี่ยงผ่านทางตราสาร CDS พุ่งสูงขึ้นด้วย ขณะที่บริษัทมาร์กิตรายงานว่า ค่าสเปรด (ส่วนต่าง) ของดัชนี CDS หุ้นกู้เอกชนในประเทศตลาดเกิดใหม่ ในยุโรปและละตินอเมริกา ทะยานขึ้น 0.80-1.00 % นับตั้งแต่กลางเดือนพ.ค.
        นักวิเคราะห์กล่าวว่า สถานการณ์ในตลาดเกิดใหม่ขณะนี้คล้ายคลึงกับในปี 1997 โดยในปีนั้นการทรุดตัวลงของสกุลเงินบาทของ ไทยและวอนของเกาหลีใต้ส่งผลให้บริษัทที่กู้ยืมเงินมากเกินไปต้องผิดนัดชำระหนี้ และหนี้ที่พุ่งสูงขึ้นของบริษัทกลุ่มนี้ก็เกือบส่งผลให้รัฐบาลผิดนัดชำระหนี้ตามไปด้วย
        ในช่วงปี 1997 นั้น หนี้ค้างชำระในภาคเอกชนในตลาดเกิดใหม่ราว 1 ใน 3 ประสบภาวะผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทกลุ่มนี้อยู่ที่ 10 % ในปี 2008 โดยบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้มีอยู่หลากหลายประเภท ตั้งแต่บริษัทอินดีเพนเดนเซีย อาลิเมนโตส ซึ่งเป็นบริษัทบรรจุภัณฑ์เนื้อสัตว์ในบราซิล ไปจนถึงธนาคาร BTA ในคาซัคสถาน
        อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าวิกฤตการณ์ในปี 1997 จะไม่เกิดขึ้นอีกในปี 2013
        เหตุผลประการแรกเป็นเพราะว่า บริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในขั้น"ขยะ" มีหนี้สินในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยรวมกันราว 3.36 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ หรือ 1 ใน 3 ของหนี้ภาคเอกชนทั้งหมด โดยธนาคารไอเอ็นจีระบุว่า สัดส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับ  "ที่สามารถจัดการได้"
        เหตุผลประการที่สองก็คือว่า หนี้ที่พุ่งขึ้นมากที่สุดคือหนี้ในบริษัท พลังงานและธนาคารซึ่งส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล โดยบริษัทพลังงานมีการทำประกันความเสี่ยงตามธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะรายได้ของบริษัทกลุ่มนี้อยู่ในรูปดอลลาร์ ส่วนธนาคารก็มักได้รับการควบคุมทางกฎระเบียบ เพื่อจำกัดความเสี่ยงที่อาจได้รับจากต่างประเทศ
        ธนาคารสเบอร์แบงก์และ VTB ของรัสเซียระบุว่า ทางธนาคารได้ทำประกันความเสี่ยง และนำเงินที่ได้รับจากตราสารหนี้ไปใช้ในการปล่อยกู้ ในรูปสกุลเงินต่างประเทศ
        นายเซอร์ไก อิกนัทเยฟ ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซียกล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า "สถานการณ์ในปัจจุบันนี้แตกต่างจากในปี 2008 เพราะในปีดังกล่าว สินทรัพย์ต่างชาติสุทธิในระบบธนาคารรัสเซียอยู่ในระดับติดลบ 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่ในวันที่ 1 มิ.ย.ปีนี้ สินทรัพย์ดังกล่าวมีขนาด 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งแตกต่างจากในปี 2008 เป็นอย่างมาก"
        ภาคเศรษฐกิจบางภาค, ประเทศบางประเทศ และบริษัทบางแห่งเผชิญความเสี่ยงจากวิกฤติมากเป็นพิเศษ โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า กลุ่มบริษัทที่อาจได้รับความเสียหายมากที่สุดคือกลุ่มสาธารณูปโภค, ค้าปลีก, สินค้าอุปโภคบริโภค และอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากกระแสเงินสดของบริษัทกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะอยู่ในรูปสกุลเงินท้องถิ่น
        ปริมาณการกู้เงินในภาคเอกชนของตุรกีพุ่งขึ้นสูงมากในช่วงที่ผ่านมา โดยภาระการชำระหนี้ในรูปสกุลเงินแข็งในช่วงหนึ่งปีข้างหน้าอยู่ที่ราว 1.55 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของภาคเอกชน โดยถึงแม้ธนาคารพาณิชย์ของตุรกีทำสัญญาสว็อปข้ามสกุลเงินเพื่อทำประกันความเสี่ยง แต่หนี้ระยะสั้นก็มีขนาดสูงกว่าทุนสำรองของธนาคารกลางเป็นอย่างมาก บริษัทเจพีมอร์แกนระบุว่า จุดที่น่าเป็นห่วงคือบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ของจีน ซึ่งครองส่วนแบ่งใหญ่ในปริมาณหนี้ค้างชำระ 6.8 หมื่นล้าน ดอลลาร์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของเอเชีย นอกจากนี้ อินโดนีเซียก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน เนื่องจากสกุลเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียอาจดิ่งลงสู่ระดับ ที่การทำประกันความเสี่ยงไม่สามารถชดเชยได้
        ยูเครนและคาซัคสถานเผชิญความเสี่ยงด้วยเช่นกันสำหรับบริษัทที่ไม่มีการทำประกันความเสี่ยงตามธรรมชาติ โดยธนาคาร BTA ของคาซัคสถานและบริษัทนัฟโตแก๊สของยูเครนผิดนัดชำระหนี้ในช่วง ที่เกิดวิกฤติปี 2008
        เจพีมอร์แกนนำบริษัทเฟอร์เร็กซ์โป ซึ่งเป็นบริษัทโลหะของยูเครนมาเปรียบเทียบกับบริษัท MHP ที่ทำฟาร์มสัตว์ปีกในยูเครน โดย เฟอร์เร็กซ์โปส่งออกผลผลิต 100 % ในขณะที่ MHP ส่งออกผลผลิต ต่ำกว่า 10 % และอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ของ MHP พุ่งขึ้นมาแล้วกว่า 1.00 % นับตั้ังแต่สิ้นเดือนเม.ย. ซึ่งสูงกว่าสองเท่าของความเคลื่อนไหวของหุ้นกู้เฟอร์เร็กซ์โป
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น