xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เย้ยคำสั่งแบนอาหารของรัสเซียไร้ผล แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนยุโรปเจอวิกฤตสินค้าล้นตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์/เอเอฟพี - ทำเนียบขาวเมื่อวันพฤหัสบดี (7 ส.ค.) คุยโวมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อรัสเซียในกรณีแทรกแซงในยูเครน ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยแก่เศรษฐกิจมอสโกและเย้ยมาตรการแก้เผ็ดของเครมลินรังแต่จะส่งผลย้อนกลับ อย่างไรก็ตาม เหล่าผู้เชี่ยวชาญทางอุตสาหกรรมเตือนว่าคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าอาหารเกือบทั้งหมดจากอเมริกาและสหภาพยุโรป อาจก่อวิกฤตสินค้าล้นตลาดในอียู

รัสเซีย ประกาศในวันพฤหัสบดี (7 ส.ค.) ห้ามนำเข้าสินค้าอาหารเกือบทั้งหมดจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อตอบโต้มาตรการแซงก์ชันต่อกรณียูเครน มาตรการอันหนักหน่วงกว่าที่คาดซึ่งโดดเดี่ยวผู้บริโภคแดนหมีขาวจากการค้าโลก ในระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ยุคสมัยโซเวียต

อเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) นั้นไม่พอใจรัสเซียที่ผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเมื่อเดือนมีนาคม และกล่าวหาว่ามอสโกยังปลุกปั่นให้เกิดความตึงเครียดในยูเครนตะวันออกด้วยการจัดหาอาวุธและความเชี่ยวชาญให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนิยมรัสเซีย จึงจำเป็นต้อง “สั่งสอน” ด้วยการออกมาตรการลงโทษหลายระลอก โดยเฉพาะหนหลังสุดในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่ง “เล่นแรง” ถึงขั้นพุ่งเป้าไปยังอุตสาหกรรมน้ำมันและอาวุธของรัสเซีย จำกัดรัฐวิสาหิกจแดนหมีขาวในการเข้าถึงตลาดทุนตะวันตก รวมทั้งอาจระงับการซื้อขายหุ้นในตลาดยุโรปและนิวยอร์ก

ในวันพฤหัสบดี (7) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ออกคำสั่งให้รัฐบาลของเขาตอบโต้มาตรการลงโทษดังกล่าว ด้วยการห้ามการนำเข้าเนื้อวัว เนื้อหมู ปลา สัตว์ปีก นม ผลิตภัณฑ์จากนม ผัก และผลไม้ทั้งหมดจากอเมริกาและอียู รวมถึงออสเตรเลีย แคนาดา และนอร์เวย์ โดยมีผลทันทีและกินระยะเวลา 1 ปี เว้นแต่ประเทศเหล่านี้จะใช้ “แนวทางที่สร้างสรรค์” เกี่ยวกับการแซงก์ชันรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม นายเจสัน เฟอร์แมน ประธานสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจทำเนียบขาวบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “การแก้เผ็ดต่อบริษัทตะวันตกหรือประเทศต่างๆ จะยิ่งทำให้รัสเซียโดดเดี่ยวจากระดับนานาชาติมากขึ้นและก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจพวกเขาเองเพิ่มเติม” เขาบอก “ธนาคารกลางรัสเซียชี้ว่าการห้ามนำเข้าอาหารจะผลักให้อัตราเงินเฟ้อของรัสเซียที่สูงอยู่แล้วพุ่งขึ้นไปอีก กัดกร่อนอำนาจการซื้อของพลเมืองรัสเซีย” พร้อมชี้ว่าพฤติกรรมของมอสโกในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก “ได้ทำให้เศรษฐกิจที่เปราะบางของรัสเซียอ่อนแอลงกว่าเดิม”

นายเฟอร์แมนยังอธิบายถึงความไม่สมส่วนกันระหว่างเศรษฐกิจสหรัฐฯและรัสเซีย โดยบอกว่าการส่งออกไปยังรัสเซียคิดเป็นแค่ 1 ใน 10 ของร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อเมริกา และคิดเป็นแค้ร้อยละ 8 ใน 10 ของร้อยละ 1 ของจีดีพีสหภาพยุโรป แต่ในส่วนของรัสเซียแล้ว พวกเขาส่งออกมายังสหรัฐฯและสหภาพยุโรปรวมกัน คิดเป็นกว่าร้อยละ 13 ของจีดีพี ขณะที่ประธานสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจทำเนียบขาวรายนี้ย้ำว่าเศรษฐกิจของอเมริกามีความหลากหลายกว่า เมื่อเทียบกับรัสเซียที่ต้องพึ่งพิงอุตสาหกรรมการสกัดและน้ำมันเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญว่ามาตรการห้ามนำเข้าสินค้าอาหารเกือบทั้งหมดจากสหภาพยุโรปของรัสเซีย จะส่งผลกระทบต่อเหล่าผู้ส่งออกอียูราวร้อยละ 10 และบางทีอาจก่อวิกฤตอาหารล้นตลาดในยุโรป

ข้อมูลจากยูโรสแตทระบุว่า รัสเซียนั้นพึ่งพิงสินค้าอาหารจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก ประมาณกันว่าต้องนำเข้าถึงราวร้อยละ 35 ของอาหารที่บริโภคทั้งหมด และในนั้นราวร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่า 12,000 ล้านยูโรต่อปีเป็นการนำเข้าจากยุโรป โดยในหมู่ 18 สมาชิกอียู เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ คือซัปพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ขณะที่นอกสหภาพยุโรปนั้น บราซิลคือผู้จัดส่งรายใหญ่ที่สุด

ตัวเลขของกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ พบว่า รัสเซียคิดเป็นแค่ร้อยละราวๆ 1.0 ในการส่งออกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ด้วยปีที่แล้วมีมูลค่าราว 1,200 ล้านดอลลาร์ แต่ดูเหมือนว่ามาตรการห้ามนำเข้าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสัตว์ปีกของอเมริกาไปยังรัสเซียมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 310 ล้านดอลลาร์ในปี 2013 และถั่ว ที่คิดเป็นมูลค่า 172 ล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับการส่งออกถั่วเหลืองและสัตว์มีชีวิต โดยเฉพาะวัว

“รัสเซียส่งออกธัญพืช แต่ก็เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ผักและผลไม้ รวมถึงอาหารแปรรูปต่างๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และนม” ประธานสหภาพเกษตรกรของฝรั่งเศสกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าสินค้ายุโรปที่รัสเซียต้องถวิลหามากที่สุดก็คือ ผักและผลไม้ เนื่องจากมอสโกนำเข้าผักและผลไม้จากอียูมูลค่ากว่า 770 ล้านยูโรต่อปี โดยเฉพาะแอปเปิล มะเขือเทศ และลูกพีช อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยุโรปเองก็เผชิญกับภาวะสินค้าที่เน่าเสียง่ายเหล่านี้ล้นตลาดเช่นกัน “รัสเซียยกเลิกการนำเข้า แต่ผลผลิตเหล่านี้ที่ไม่ได้ส่งออกก็จะถูกถ่ายเทสู่ตลาดยุโรปและมันจะก่อสถานการณ์วิกฤต”

ประธานสมาพันธ์ผู้ผลิตผลไม้ฝรั่งเศสเปิดเผยว่าในปี 2012 สเปนส่งออกผลไม้ราว 100,000 ตันไปยังยูเครนและรัสเซีย และตอนนี้สินค้าเหล่านั้นกำลังถูกเปลี่ยนถ่ายมายังตลาดยุโรป ขณะที่อิตาลี สเปนและฝรั่งเศส เคยแข่งขันทำสงครามราคาเนคทารีน จนราคาล่มสลายมาแล้ว และหายนะในแบบเดียวกัน ดูเหมือนกำลังจะเกิดขึ้นกับตลาดแอปเปิล

เมื่อปี 2012 ฝรั่งเศสส่งออกผลไม้ไปยังรัสเซีย คิดเป็นมูลค่าเกือบ 26 ล้านยูโร ประธานสมาพันธ์ผู้ผลิตผลไม้กล่าว พร้อมบอกต่อว่า “แต่ในปีนี้ โปแลนด์ ซึ่งปกติแล้วส่งออกไปยังรัสเซียจำนวนมาก คาดหมายว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างมหาศาล ซึ่งตอนนี้มันคงถูกส่งเข้ามายังตลาดภายในของอียูแทน”
กำลังโหลดความคิดเห็น