xs
xsm
sm
md
lg

เงิน‘รูเบิล’ยังคงรูดดิ่งทำ‘นิวโลว์’แม้รัสเซียขึ้นดอกเบี้ยพรวด6.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - มาตรการพยุงเงิน “รูเบิล” ด้วยการที่ธนาคารกลางรัสเซียประกาศขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 6.5% จาก 10.5% เป็น 17% ตอนกลางดึกคืนวันจันทร์ (15 ธ.ค.) ยังคงไร้ผล อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินตรารัสเซียกลับดำดิ่งสร้างสถิติต่ำสุดครั้งใหม่ในวันอังคาร (16) เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยที่น้ำมันดิบชนิดเบรนท์ตกเฉียดระดับ 59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลครั้งแรกในรอบกว่า 5 ปี ตอกย้ำให้เห็นว่าเศรษฐกิจแดนหมีขาวมีแนวโน้มถดถอยรุนแรงในปีหน้า

ในวันอังคาร ค่าเงินรูเบิลหล่นลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งย่างเข้าช่วงบ่ายของกรุงมอสโก อยู่ที่ 73 รูเบิลแลกได่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ และกว่า 90 รูเบิลแลกได้ 1 ยูโร หลังจากสามารถดีดกลับได้เพียงช่วงสั้นๆ มาอยู่ที่ 61 รูเบิลต่อดอลลาร์ สืบเนื่องจากธนาคารกลางรัสเซียประกาศตูมตอนกลางดึกขึ้นดอกเบี้ยทีเดียว 6.5% ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดยั้งการดำดิ่งของค่าเงิน

นับจากต้นปีจนถึงขณะนี้ อัตราแลกเปลี่ยนแดนหมีขาวลดลงไปแล้วกว่า 50% ท่ามกลางภาวะราคาน้ำมันดิ่งฮวบ และมาตรการลงโทษของตะวันตกจากกรณีที่รัสเซียให้การสนับสนุนกบฏแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก

การดิ่งลงของค่าเงินรูเบิลสะท้อนสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเรียกว่า วิกฤตความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจรัสเซีย ขณะที่เครมลินกำลังเผชิญหน้ากับตะวันตก

แนวโน้มเศรษฐกิจติดลบรุนแรงถือเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เพราะการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและสร้างความมั่งคั่งต่อเนื่องของรัสเซียยาวนานหลายปี

นิโคไล เปตรอฟ ศาสตราจารย์จากไฮเออร์ สกูล ออฟ อิโคโนมิกส์ ในมอสโก ชี้ว่า ปัญหาสำคัญคือ รัฐบาลตามไม่ทันผลแง่ลบจากการตัดสินใจทางการเมือง และสิ่งสำคัญคือ การป้องกันไม่ให้ประชาชนแตกตื่น

ค่าเงินรูเบิลอยู่ในอาการร่อเร่ เมื่อทำสถิติต่ำสุดในคืนวันจันทร์ (15) ที่ 64.4 รูเบิลต่อดอลลาร์ ลดลง 9.5% ในวันเดียว ซึ่งถือเป็นการลดลงรุนแรงที่สุดในรอบ 1 วันนับจากรัสเซียเผชิญวิกฤตการเงินในปี 1998

การอ่อนค่าของรูเบิลมีขึ้นขณะที่ธนาคารเตือนว่า ราคาน้ำมันตกต่ำอาจทำให้เศรษฐกิจหดตัวเกือบ 5% ในปีหน้า สืบเนื่องจากรายได้ครึ่งหนึ่งของรัสเซียมาจากน้ำมันและก๊าซ

ล่าสุดการชะลอตัวในภาคการผลิตของจีน และภาวะค่าเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ทรุด ได้ฉุดราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนท์ในตลาดลอนดอน ให้ตกลงมาจนเหลือเพียงครึ่งเศษๆ ของระดับทำสถิติสูงสุดในรอบปีนี้ที่ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนมิถุนายน โดยในช่วงเช้าวันอังคาร(16) นั้น เบรนท์อยู่ที่ 59.02 ดอลลาร์ ต่ำสุดนับจากเดือนพฤษภาคม 2009 ขณะที่น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียตในตลาดนิวยอร์กลดลง 1.25 ดอลลาร์ อยู่ที่ 54.66 ดอลลาร์

นักเศรษฐศาสตร์ต่างกังวลกับแนวโน้มเศรษฐกิจรัสเซีย และการที่เครมลินยืนกรานไม่เปลี่ยนแนวทางการจัดการกับวิกฤตยูเครน แม้เศรษฐกิจมุ่งหน้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ปูตินนั้นมองว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว

ด้านเอลวิรา นาบิวลินา ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซีย ออกคำแถลงเมื่อวันอังคารว่า การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยป้องกันภาวะเงินเฟ้อ และส่งเสริมให้ประชาชนเปิดบัญชีเงินฝาก แต่ก็ยอมรับว่า ค่ารูเบิลที่ตกต่ำเกินความเป็นจริงในขณะนี้ จะไม่สามารถฟื้นตัวได้ในทันที

ทางด้านพวกผู้สังเกตการณ์มองการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติรัสเซียต่างๆ กันไป

อเล็กเซ คูดริน อดีตรัฐมนตรีคลังรัสเซียที่ได้รับการยอมรับนับถือกันมากโดยเฉพาะจากโลกตะวันตก แสดงความเห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวคราวนี้ แต่สำทับว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการอื่นๆ มาช่วยฟื้นความมั่นใจของนักลงทุนด้วย

ทว่า บอริส ไททอฟ ผู้สอบสวนกรณีการร้องเรียนของประชาชนด้านสิทธิของผู้ประกอบการ ชี้ว่า การนำเศรษฐกิจทั้งระบบมากอบกู้ฟื้นฟูค่าเงินรูเบิลไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม

นีล เชียริ่ง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ตลาดเกิดใหม่ของแคปิตอล อิโคโนมิกส์ในลอนดอน ขานรับว่า การขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ขจัดความเสี่ยงที่มีต่อรูเบิล เช่น ราคาน้ำมันขาลง แต่กลับจะทำให้สภาวะสินเชื่อตึงตัวมากขึ้นทั้งสำหรับครัวเรือนและภาคธุรกิจ ฉุดให้เศรษฐกิจรัสเซียยิ่งจมลึกในปีหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น