ดัชนี PMI ของยูโรโซนเดือน ก.ย.เพิ่มขึ้นไปที่ 52.2 จาก 51.1 จุดในเดือนก่อนสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคบริการของยูโรโซนกำลังขยายตัว ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคบริการของอิตาลีเพิ่มขึ้นมากที่สุดไปแตะระดับ 52.7 จาก 48.8 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี
วุฒิสมาชิกอิตาลีลงคะแนนไว้วางใจ Enrico Letta นายกรัฐมนตรีอิตาลี หลังจากแบร์ลุสโคนีล้มเลิกแผนการไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทำให้นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้รับคะแนนไว้วางใจ 235 ต่อ 70 เสียง ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่าการอยู่รอดของรัฐบาลจะไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีของแบร์ลุสโคนี
ยอดค้าปลีกของยูโรโซนเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 0.7% จากเดือนก่อน จากยอดขายสินค้ากลุ่มพลังงาน และสินค้านอกกลุ่มอาหารที่เพิ่มขึ้น 0.9% และ 0.6% ตามลำดับ
ราคาที่อยู่อาศัยของอังกฤษเดือน ก.ย.อยู่ที่ 170,733 ปอนด์ เพิ่มขึ้น 0.3% เพราะมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผลของมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ
ดัชนี PMI ภาคการก่อสร้างของอังกฤษเดือน ก.ย.อยู่ที่ 58.9 จุด ลดลงจาก 59.1 จุดในเดือนก่อน โดยดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 จุดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 บ่งชี้ว่าภาคการก่อสร้างของอังกฤษมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งแล้ว
Eric Rosengren ประธาน FED บอสตัน กล่าวว่า การชะลอ QE จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และใช้เวลานานหลายปี โดย FED ควรเริ่มต่อเมื่อตัวเลขเศรษฐกิจอยู่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วเท่านั้น
การปิดหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐในระยะสั้นยังไม่น่ากังวลนัก เนื่องจากการจ่ายค่าจ้างส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในวันที่ 11-15 ต.ค. ดังนั้น ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาได้ก่อนจะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจเนื่องจากลูกจ้างหน่วยงานรัฐจะชะลอการใช้จ่ายเพราะกังวลเรื่องรายได้ในอนาคต
ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.ย.เพิ่มขึ้น 1,000 ราย ไปอยู่ที่ 308,000 ราย โดยการปิดหน่วยงานภาครัฐที่ย่างเข้าสู่วันที่ 3 อาจทำให้ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ การปิดหน่วยงานทำให้ ก.แรงงาน ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานในเดือน ก.ย.ได้
อดีตกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น คาดว่า ธนาคารกลางจะยังไม่ตัดสินใจเพิ่มวงเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจนกว่าจะถึงไตรมาสที่ 2 ปีหน้า เพราะน่าจะดูผลกระทบของเศรษฐกิจจากการขึ้นภาษีในเดือน เม.ย.57 ก่อน
ดัชนี PMI ภาคบริการของจีนเดือนก.ย.เพิ่มขึ้นสู่ 55.4 จุด จาก 53.9 จุดในเดือนก่อน บ่งชี้ว่า จีนกำลังเข้าสู่การฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 หลังชะลอลงในครึ่งปีแรก
Moody’s เพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของฟิลิปปินส์ไปสู่ Baa3 พร้อมแนวโน้มเชิงบวก จาก 1) แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับสูง 2) ฐานะการคลังที่แข็งแกร่ง และ 3) เสถียรภาพทางการเมืองกับธรรมาภิบาลที่ดีขึ้น ทั้งนี้ การปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือของ Moody’s สอดคล้องกับการปรับขึ้นของ Fitch และ S&Pในช่วงต้นปี
ผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ เชื่อว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่า 7% ในปีนี้ แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากการชะลอ QE ของ FED โดยเชื่อว่าธนาคารกลางจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้และปีหน้าเพื่อป้องกันความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในอนาคต
รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังสูงเกินไป แต่เป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจคลัง จึงจะมุ่งไปจัดการเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท
Fitch Rating เปิดเผยว่า นโยบายเศรษฐกิจของไทยเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจาก 1) อัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำและทรงตัว 2) หนี้สาธารณะในระดับปานกลาง และ 3) ไทยอยู่ในสถานะเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศ
SET Index ปิดที่ 1,429.18 จุด เพิ่มขึ้น 20.19 จุด หรือ 1.43% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 39,972 ล้านบาท จากความคาดหวังว่าร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จะผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ รวมทั้งการปิดหน่วยงานภาครัฐบางแห่งของสหรัฐที่ยืดเยื้อทำให้นักลงทุนคาดว่า FED จะต้องคงมาตรการ QE ต่อไปเพื่อประคองเศรษฐกิจสหรัฐ
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 0.00% ถึง +0.01% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 14 วัน มูลค่า 30,000 ล้านบาท
Vincent Reinhart หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐอเมริกา ค่าย Morgan Stanley มั่นใจว่าโอกาส ที่รัฐบาลสหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้คือ 0% เพราะหากถึงวัน deadline แล้ว คองเกรสยังตกลงกันไม่ได้ั รัฐบาลสหรัฐโดย ก.คลังก็จะยอมฝ่าืนกฏหมาย 1 ใน 3 ข้อนี้ เพื่อไม่ให้ผิดนัดชำระหนี้
1. The Second Liberty Bond Act of 1917 : กำหนดเพดานหนี้
2. The Federal Reserve Act : ห้าม FED ปล่อยกู้โดยตรงแก่กระทรวงการคลัง
3. The 14th Amendment of the Constitution : มีการระบุว่า “ ห้ามมีข้อกังขาใดใดในหนี้ของ รัฐบาลสหรัฐที่เกิดขึ้นโดยถูกต้องตามกฏหมาย”
รัฐบาลจะฝ่าฝืนกฏหมาย โดยระบุว่าได้รับคำสั่งจากกฏหมาย 3 เรื่องที่ขัดแย้งกันเอง รัฐบาลจึงต้องเลือกทำตามกฏหมายที่สำคัญมากกว่า
ถ้า รมต.คลัง เลือกฝ่าฝืนกฏหมายในข้อ 1 ก.การคลังก็จะออก Treasury Bonds เอง แต่หนี้ก้อนนี้ อาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามข้อ 3 ข้างต้น จึงคล้ายกับที่ยุโรปเรียกว่า คลังจะออกตราสารหนี้ Red Bonds เพื่อจ่ายคืนเงินต้นกับดอกเบี้ยของ Blue Bonds ที่ครบกำหนด และเมื่อเพดานหนี้ถูกยกขึ้น Red Bonds ก็จะกลายเป็น Blue Bonds
แต่ถ้า เบน เบอร์นานเก้ ประธาน FEDฝ่าฝืนกฏหมายตามข้อ 2 ก.คลัง ก็จะได้เงินที่ออกโดย FED ในรูปแบบของ O/D ทุกอย่างก็เดินหน้าได้ ซึ่งไม่ว่า รมต.คลัง หรือ FED จะฝ่าฝืนกฏหมายข้อไหน ก็จะช่วยชีวิตระบบการเงินโลกได้อีกครั้ง แม้จะเสี่ยงต่อการโดนไล่ออก โดนซักฟอก ซึ่งคุ้มกับความเสี่ยงครั้งนี้มาก เพราะจะทำให้รัฐบาลสหรัฐไม่ผิดนัดชำระหนี้ (Default)