EIC SCB ประเมินภาพรวมวิกฤตเพดานหนี้สหรัฐฯ อาจถกยืดเยื้อถึงปลายเดือน จับตาตลาดเงินความผันผวนหนัก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB)ประเมินภาพรวมกรณีวิกฤตเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งในวันที่ 17 ต.ค. นี้ เป็นวันที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ (US Treasury) คาดว่าอาจจะมีเงินไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และตลาดการเงินคาดการณ์ว่า สหรัฐฯ จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากผิดนัดชำระหนี้หากการเจรจาขยายเพดานหนี้ไม่สามารถบรรลุผลได้ภายในวันนี้
ประเด็นที่น่ากังวลหากรัฐบาลไม่สามารถขยายเพดานหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไม่ใช่การชำระคืนเงินต้น แต่เป็นดอกเบี้ย ในส่วนของเงินต้นนั้น สหรัฐฯ สามารถที่จะ Refinance เงินต้นของหนี้ดังกล่าวได้โดยไม่กระทบต่อเพดานหนี้ แต่ค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยนั้นถือเป็นรายจ่ายของรัฐบาลซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบหากรัฐบาลมีรายรับไม่เพียงพอต่อรายจ่ายหลังจากวันที่ 17 ต.ค. โดยประเมินว่า วันที่เงินสดในมือของ US Treasury หมดจะอยู่ระหว่างวันที่ 21 ถึง 31 ต.ค. ทั้งนี้ วันแรกที่ US Treasury จะต้องชำระดอกเบี้ยหลังจากวันที่ 17 ต.ค. คือ วันที่ 31 ต.ค. ซึ่งมีราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 3% ของรายรับของรัฐบาลในเดือนต.ค. ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีรายรับเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้หากเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการชำระหนี้เป็นลำดับแรก
อย่างไรก็ตาม EIC คาดว่ามีความเป็นได้ที่การเจรจาอาจยืดเยื้อออกไป เนื่องจากเงินในมือของ US Treasury ยังไม่ได้หมดในวันที่ 17 ต.ค. ซึ่งนักการเมืองสหรัฐฯ ก็ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวดี ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่การเจรจาอาจจะยืดเยื้อออกไปถึงช่วงระหว่างวันที่ 21-31 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่เงินจะหมด และสหรัฐฯ จะต้องเริ่มชำระดอกเบี้ยงวดแรกในวันที่ 31 ต.ค.
ประเด็นสำคัญคือ การผิดนัดชำระของสหรัฐฯ นี้ หากเกิดขึ้นจริงจะแตกต่างจากกรณีของ Lehman Brothers เนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ นี้เป็นกรณีชั่วคราว (Selective Default) และไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาว (Long-run Ability to Service Debt) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีการล้มละลายของ Lehman Brothers ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงินในปี 2008
นอกจากนี้ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (US Federal Reserve) น่าจะมีวิธีการรับประกันความน่าเชื่อถือของพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งจะบรรเทาผลกระทบต่อตลาดซื้อคืนพันธบัตรของสหรัฐฯ ที่น่าจะเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุดจากการใช้พันธบัตรสหรัฐฯ เป็นเครื่องค้ำประกันการกู้เงิน
สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกของไทยน่าจะมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผลกระทบทางตรงหลักๆ ต่อภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ จะมาจากการ Delay การเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ และค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ซึ่งผลกระทบน่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากการเบิกจ่ายย้อนหลังน่าจะทำได้ค่อนข้างเร็วหลังจากรัฐบาลเปิดทำการ แต่หากการเบิกจ่ายดังกล่าวล่าช้าอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการส่งออกของไทย
และต้องจับตาดูความผันผวนในตลาดการเงินที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้จะส่งผลต่อทั้งความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศในกลุ่ม Emerging Markets อย่างไรก็ดี ระดับเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันมีมากพอที่จะรองรับความผันผวนดังกล่าวได้ การไหลออกของเงินทุนต่างชาติจึงไม่น่าจะทำให้ประเทศมีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตดุลการชำระเงิน