xs
xsm
sm
md
lg

Thai BMA เชื่อ “คิวอี” ยังกระทบ “ตลาดเงิน-ตลาดทุน” อีกหลายระลอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมตลาดตราสารหนี้ฯ ประเมิน “คิวอี” ยังมีพิษสงกระทบ “ตลาดเงิน-ตลาดทุน” อีกหลายระลอก พร้อมส่งสัญญาณ “ต่างชาติ” โยกเงินเข้าตลาดบอนด์ของไทย ยิลด์ปรับตัวลดลงกว่า 0.20% หลังข่าวคง “คิวอี” ทิศทางเดียวกับต่างประเทศ

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกมาประกาศคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยจะเข้าซื้อพันธบัตรที่ระดับ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่องทุกเดือน เป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยด้วยเช่นกัน และภาพตลาดตราสารหนี้เองยังคงตอบรับข่าวดีนี้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ต่างกับตลาดหุ้นไทยที่ดูจะตอบรับข่าวดีสั้นกว่าก่อนจะมีแรงขายทำกำไรออกมาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น หลังคำประกาศดังกล่าวนี้ได้เห็นกระแสเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างชัดเจน โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวลงรับข่าวเฉลี่ย 0.20% และนับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. มาถึงปัจจุบัน (24 ก.ย.) อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของไทยปรับตัวลงมาแล้ว 0.44% ตามการปรับตัวลงของพันธบัตรสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน

สำหรับในช่วงอาทิตย์ 16-20 ก.ย.56 เห็นกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาอย่างชัดเจนกว่า 64,000 ล้านบาท โดยเข้ามาซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น 63,000 ล้านบาท และซื้อตราสารหนี้ระยะยาว 17,000 ล้านบาท จะเห็นสัญญาณการไหลกลับเข้ามาในพันธบัตรอายุ 5-10 ปี มากขึ้น และหากนับตั้งแต่ต้นเดือนถึงปัจจุบัน ต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 94,000 ล้านบาท เป็นการซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น 63,000 ล้านบาท และซื้อตราสารหนี้ระยะยาว 29,000 ล้านบาท ทำให้มียอดถือครองตราสารหนี้ต่างชาติสุทธิ ณ วันที่ 20 ก.ย.56 อยู่ที่ 713,800 ล้านบาท จากสิ้นปี 56 ที่ 710,000 ล้านบาท หรือมียอดเงินไหลเข้าสุทธิในปีนี้ของต่างชาติ 3,800 ล้านบาท หากมองจากยอดถือครองสุทธิของต่างชาติดังกล่าว

ปัจจัยในเรื่องของการลดมาตรการ QE ยังจะคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางการเคลื่อนย้ายของเงินทุนต่างชาติต่อเนื่อง และอาจจะทำให้เกิดความผันผวนขึ้นได้ แต่ตลาดตราสารหนี้อาจจะมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างๆ ไม่มากเหมือนที่เห็นในตลาดหุ้นเท่านั้นเอง และหากการชะลอมาตรการเกิดขึ้นในช่วงปลายปีตามที่ตลาดคาด ก็คงยังจะเป็นปัจจัยหนุนให้ในปีนี้ทั้งปีอาจจะยังเห็นเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิได้เช่นกัน ทั้งนี้ เงินทุนไหลเข้ารอบใหม่ในครั้งนี้พบว่าไม่ใช่เงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น แต่เป็นเงินลงทุนจริง ดังจะเห็นได้จากสัญญาณการเข้าซื้อในตราสารหนี้ระยะยาวที่ชัดเจนมากขึ้นหลังจากวันที่เฟดแถลงคงมาตรการ QE ไว้ และหากมองจากยอดถือครองสุทธิต่างชาติ ล่าสุด เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 23% และตราสารหนี้ระยะยาว 77% จึงเชื่อว่าเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนจริง

โดยในช่วงเดือนนี้นอกจากปัจจัยในต่างประเทศแล้ว ปัจจัยในประเทศเองก็มีส่วนทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างมาก เพราะซัปพลายของพันธบัตรภาครัฐที่จะออกประมูลในไตรมาสที่ 4 นั้น น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้คือ ประมาณ 95,000 ล้านบาท จากปกติเฉลี่ยจะอยู่ที่ไตรมาสละ 130,000 ล้านบาท ซัปพลายน้อยในขณะที่ดีมานด์มากก็กดให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะในช่วงหลังจากที่มีความกังวลเรื่องการลดมาตรการ QE และทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้นั้น ทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรโดยรวมปรับตัวขึ้นมาแล้วระดับหนึ่ง ทางภาครัฐจึงอาจต้องบริหารจัดการต้นทุนให้เหมาะสมด้วย และปกติตราสารหนี้ระยะยาวเองกลุ่มนักลงทุนที่สนใจลงทุนก็จะเป็นนักลงทุนต่างชาติด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น