คอลัมน์ Wealth Manager Talk
โดยคมศร ประกอบผล, AFPTTM
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ทิสโก้ เวลธ์
ตัวเลขเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ทั้งภาคการผลิต การจ้างงาน และภาคอสังหาริมทรัพย์ กลับสร้างความกังวลต่อนักลงทุนต่อการชะลอมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และจุดชนวนให้เกิดการเทขายสินทรัพย์ในตลาดการเกิดใหม่ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน และเกิดกระแสเงินทุนไหลกลับไปลงทุนในตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และค่าเงินสกุลต่างๆ ของประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวลดลงอย่างมากไปตามๆ กัน
แม้ในระยะสั้นบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นจะยังถูกกดดันจากประเด็นการชะลอ QE ของสหรัฐฯ แต่ในระยะยาว เราเชื่อว่าหลังจากที่ Fed มีการเริ่มมีความชัดเจนในแผนการชะลอและยกเลิก QE ในที่สุด การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลกจะถูกขับเคลื่อนด้วย 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1. “The Great Rotation” (หรือการปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและลดสัดส่วนตราสารหนี้ในพอร์ตการลงทุนของผู้จัดการกองทุนทั่วโลก) ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ Fed ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะทำให้ทิศทางดอกเบี้ยในสหรัฐฯที่เป็นขาลงมาตลอดตั้งแต่วิกฤต subprime ในปี 2008 เริ่มกลับเป็นขาขึ้นอีกครั้ง และส่งผลทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลดลง ซึ่งทำให้ผู้จัดการกองทุนต้องมีการปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว โดยการลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ และกลับมาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นให้มากขึ้น และทำให้หุ้นน่าจะกลับมาสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว
2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้ว เริ่มดูชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจในเอเชียที่เริ่มมีทิศทางชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งนับเป็นผู้บริโภคหลักของโลก จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาผ่านช่องทางการส่งออกในที่สุด ประกอบกับระดับ Valuation ของหุ้นเอเชียที่ปรับตัวลดลงมามากจนอยู่ในระดับที่น่าสนใจ (Forward P/E ของดัชนี MSCI Asia Pacific ex Japan ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 12 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 13 เท่า) ก็น่าจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะตลาดที่เป็นเศรษฐกิจเปิด เช่น กลุ่มเอเชียเหนือ และ ไทย สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้อย่างน่าพอใจ
3. ต้นทุนการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯถือเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกู้ยืมเงินของโลก ดังนั้น การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จึงส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศอื่นๆ รวมทั้งต้นทุนการกู้ยืมบริษัทเอกชนปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น นักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีอัตราการกู้ยืมสูง ซึ่งในปัจจุบันได้แก่ ประเทศอินเดีย และประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา
แม้ตลาดหุ้นในเอเชียจะประสบปัญหาเงินทุนไหลออกอย่างหนักในปัจจุบัน แต่เรายังเชื่อว่าด้วยระดับ Valuation ที่ปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่น่าจะฟื้นตัวขึ้นได้จากการส่งออก ตลาดหุ้นในเอเชีย จะยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว และยังแนะนำให้ใช้โอกาสที่ตลาดผันผวนในช่วงนี้ เริ่มทะยอยซื้อสะสม