xs
xsm
sm
md
lg

เทียบวิกฤต “เพดานหนี้” ไม่แรงเท่า “เลห์แมน บราเธอร์ส” ล้มละลาย จับตาตลาดบอนด์ป่วนหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยฯ ธ.ไทยพาณิชย์ คาดปัญหา “เพดานหนี้” ส่อเค้ายืดเยื้อ และมีโอกาสสูงที่จะผิดนัดชำระหนี้ เชื่อผลกระทบไม่รุนแรงเท่าวิกฤต “เลห์แมน บราเธอร์ส” ล้มละลายเมื่อปี 2008 พร้อมเชื่อ “เฟด” น่าจะมีวิธีการรับประกันความน่าเชื่อถือของพันธบัตร ซึ่งจะบรรเทาผลกระทบต่อตลาดซื้อคืน ที่น่าจะเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด มั่นใจทุนสำรองไทยฯ รับมือได้

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) คาดว่า การขยายเพดานหนี้น่าจะสำเร็จก่อนวันที่ 17 ต.ค. แต่มีความเป็นได้ที่การเจรจาอาจยืดเยื้อออกไป เนื่องจากเงินในมือของ US Treasury ยังไม่ได้หมดในวันที่ 17 ต.ค. ซึ่งนักการเมืองสหรัฐฯ ก็ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวดี ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่การเจรจาอาจจะยืดเยื้อออกไปถึงช่วงระหว่างวันที่ 21-31 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่เงินจะหมด และสหรัฐฯ จะต้องเริ่มชำระดอกเบี้ยงวดแรกในวันที่ 31 ต.ค.นี้

ประเด็นสำคัญคือ การผิดนัดชำระของสหรัฐฯ นี้หากเกิดขึ้นจริง จะแตกต่างจากกรณีของ เลห์แมน บราเธอร์ส เนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ นี้เป็นกรณีชั่วคราว (Selective Default) และไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาว (Long-run Ability to Service Debt) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีการล้มละลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงินในปี 2008

ทั้งนี้ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (US Federal Reserve) น่าจะมีวิธีการรับประกันความน่าเชื่อถือของพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งจะบรรเทาผลกระทบต่อตลาดซื้อคืนพันธบัตรของสหรัฐฯ ที่น่าจะเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุดจากการใช้พันธบัตรสหรัฐฯ เป็นเครื่องค้ำประกันการกู้เงิน

นอกจากนี้ EIC ยังประเมินผลกระทบต่อการส่งออกของไทยน่าจะมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผลกระทบทางตรงหลักๆ ต่อภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ จะมาจากการ Delay การเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ และค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ซึ่งผลกระทบน่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากการเบิกจ่ายย้อนหลังน่าจะทำได้ค่อนข้างเร็วหลังจากรัฐบาลเปิดทำการ แต่หากการเบิกจ่ายดังกล่าวล่าช้าอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการส่งออกของไทย ซึ่งสินค้าหลักที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ คือ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋อง อาจได้รับผลกระทบดังกล่าว

ทั้งนี้ คงต้องจับตาดูความผันผวนในตลาดการเงินที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าใกล้วันที่ 17 ต.ค. โดยความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ จะส่งผลต่อทั้งความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศในกลุ่ม Emerging Markets อย่างไรก็ดี ระดับเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันมีมากพอที่จะรองรับความผันผวนดังกล่าวได้ การไหลออกของเงินทุนต่างชาติจึงไม่น่าจะทำให้ประเทศมีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตดุลการชำระเงิน


กำลังโหลดความคิดเห็น