xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ส่อแววเลื่อน หลังผลศึกษา EHIA ดีเลย์ 1 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ส่อแววเลื่อนจ่ายไฟฟ้าในปี 62 หลังการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เลื่อนไป 1 ปีเสร็จ เม.ย.57 หลังเปลี่ยนเส้นทางขนถ่านหินจากสะพานช้างเป็นบ้านคลองรั้ว เผยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างอุโมงค์ หรือสะพานข้ามป่าชายเลน

นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงขนาด 800 เมกะวัตต์ ว่า ขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)โครงการดังกล่าว โดยจะล่าช้าจากเดิมที่กำหนดแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.-พ.ค.2556 เป็น เม.ย.-พ.ค.2557 เนื่องจากได้มีการเปลี่ยนพื้นที่เส้นทางการขนส่งถ่านหิน จากเดิมท่าเทียบเรือสะพานช้าง ต.คลองขนาน เป็นท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ต.ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือขนส่งน้ำมันของ กฟผ.เดิมอยู่แล้ว ตามที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสนอมา

โดยยอมรับว่าการเปลี่ยนเส้นทางการขนถ่านหินมายังโรงไฟฟ้าจะไกลขึ้นประมาณ 8 กม. และยังผ่านป่าชายเลน ซี่ง กฟผ.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะสร้างอุโมงค์ใต้ดิน หรือสะพานข้ามพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อไม่ให้กระทบต่อป่าชายเลน โดยหากสร้างอุโมงค์จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอีก 1 พันล้านบาท หากจะมีการสร้างสะพานข้ามนั้น ทางชาวบ้านได้เสนอขอใช้สะพานดังกล่าวนอกเหนือจากทำสายพานลำเลียงถ่านหินแบบปิดมายังโรงไฟฟ้ากระบี่

สำหรับเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชนในพื้นที่ โดยใช้ถ่านหินนำเข้าคุณภาพดีประเภทบิทูมินัส และซับบิทูมินัส จากอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งตามแผนงานกำหนดไว้ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) ในปี 2562 ซึ่งขณะนี้ กฟผ.ยังคงยืดกำหนดการ COD ไว้เหมือนเดิม แต่ก็มีโอกาสที่จะเลื่อนออกไปหลังการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฯ จะยืดเยื้อ

ปัจจุบัน ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 2.2-2.3 พันเมกะวัตต์ แต่มีกำลังการผลิตไฟพร้อมจ่ายเพียง 1.6-1.7 พันเมกะวัตต์ ทำให้ต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปให้ ซึ่งหากพิจารณาถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าแล้ว ภาคใต้ควรมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ ซึ่งหากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่แล้วเสร็จก็เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะหนึ่ง สุดท้ายก็จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก

ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) ระบุให้ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ 4 โรง โดยหนึ่งในนั้นคือ โรงไฟฟ้ากระบี่ 800 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนานำร่องที่มีความเป็นไปได้สูงสุด เนี่องจากสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่เดิมอยู่แล้ว ทำให้กระแสการคัดค้านไม่รุนแรงเหมือนกับการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น