xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินหวั่นกระทบเกษตรอินทรีย์ เดินหน้าใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.สุขภาพป้องพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตร อินทรีย์ที่จะถูกโรงไฟฟ้าถ่านหินบุก
ฉะเชิงเทรา - ชาวบ้านใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน หวั่นมลพิษกระทบอาชีพเกษตรอินทรีย์ เดินหน้าใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ แฉเทคโนโลยีใหม่กรองพิษโรงไฟฟ้าถ่านหินเคยพ่นสารปรอทใส่พื้นที่รอบข้างจนปนเปื้อนห่วงโซ่อาหารมาแล้ว

วันนี้ (16 ก.ย.) น.ส.นันทวัน หาญดี อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 154 หมู่ 6 ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ประกอบอาชีพเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ติดกับพื้นที่การก่อตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคเอกชน กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวในเวทีการเรียนรู้ภาคประชาชน ที่หอประชุมใหญ่ วิทยาลัยการอาชีพพนมสารคาม ว่า ตนประกอบอาชีพเกษตรกรรมธรรมชาติบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาด ซึ่งต้องใช้แหล่งน้ำ และอากาศแหล่งเดียวกับโรงไฟฟ้า จึงหวั่นว่าจะได้รับผลกระทบ ทั้งด้านแหล่งน้ำทำการเกษตร ปัญหาสุขภาพจากมลพิษที่อาจเกิดขึ้น และผลกระทบต่อพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมมาก ทั้งมะม่วงส่งออก เห็ดฟาง พืชผัก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง นาข้าว และปศุสัตว์

จึงได้ขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 11 การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ส่งนักวิชาการเข้ามาช่วย ใช้เวลามานานกว่า 2 ปี วันนี้ประชาชนได้เข้าใจ และเกิดความร่วมมือกันมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา เคยเกิดความแตกแยกจากการที่ชาวบ้านได้รับข้อมูลที่ไม่เป็นจริง แต่วันนี้สามารถตัดสินใจร่วมกันอย่างมีเหตุมีผล

สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้ ยังอยู่ในกระบวนการทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เนื่องจากครั้งแรกได้นำผลการวิจัยที่ทำร่วมกับ สช. เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย จึงทำให้ EHIA ของโรงไฟฟ้าไม่ผ่านความเห็นชอบ โรงไฟฟ้าจึงอยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานผลกระทบใหม่

น.ส.นันทวัน กล่าวว่า วันนี้นักวิชาการที่ทาง สช.ส่งลงพื้นที่ ได้บอกแก่ชาวบ้านแล้วว่า ถ่านหินสะอาดนั้นไม่มีในโลก และเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันมลพิษเล็ดลอดออกมาสู่สภาพแวดล้อมภายนอกได้สูงถึง 99.99% ไม่มีจริงอีกเช่นกัน อีกทั้งเทคโนโลยีดังกล่าวเคยถูกใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหินชีวมวล ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ก็พบว่ามีสารปรอทปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารของมนุษ์ โดยอยู่ในตัวปลาช่อน และคนที่กินปลาช่อนเข้าไปก็ได้รับสารปรอทจากปลาช่อนแล้วเช่นกัน

ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างการสะสมของสารปรอทในสภาพแวดล้อมรอบข้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากปล่อยให้เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินชนิดเดียวกันนี้ใน จ.ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าก็คงจะมีชะตากรรมที่ไม่ต่างกันกับชาว ต.ท่าตูม ที่ตรวจพบสารปรอทในร่างกาย
นักวิชาหารคัดค้า่นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
กำลังโหลดความคิดเห็น