ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของชาวฉะเชิงเทราที่ต้องต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนมากว่า 2 ปี โดยเมื่อวานนี้ (17 ต.ค. 2556) เวลา 19.00น. คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) มีมติไม่อนุมัติ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนของ บริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ในเครืออุตสาหกรรมกระดาษดับเบิ้ลเอ รอบที่สอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้วบริษัทเคยมีการเสนอรายงานEHIA ไปแล้วและไม่ได้รับการอนุมัติ
กัญจน์ ทัตติยะกุล ตัวแทนเครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้่าถ่านหินเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นผู้เริ่มทำการรณรงค์คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน บน Change.org กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากหลังที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่่านหินเขาหินซ้อนไม่ผ่านEHIA ถือเป็นชัยชนะของชุมชนที่ได้ทำงานกันมาอย่างหนัก โดยมีการเก็บข้อมูลต่างๆในเรื่องผลกระทบต่อพื้นที่แหล่งผลิตอาหารมานานกว่า 2 ปี และยังได้มีการยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 6,000 คนที่ลงชื่อผ่าน Change.org/stopcoal ให้คชก. พิจารณาด้วยว่ามีคนทั่วประเทศคัดค้านโครงการนี้ ซึ่งชัยชนะครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกโล่งใจและมีกำลังใจในการทำข้อมูลต่างๆมากขึ้น
“ชัยชนะครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกคนที่ทำงานในพื้นที่ จนเราสามารถล้มโครงการไฟฟ้าถ่านหินได้สำเร็จ”
แต่นายกัญชน์กล่าวต่อว่า ยังไม่สามารถวางใจได้ เพราะโครงการยังไม่ถูกยกเลิก เชื่อว่าหากเรื่องเงียบเมื่อไหร่ บริษัทดังกล่าวก็จะเสนอโครงการได้อีก และมีโอกาสพลิกผันเป็นอื่นได้ เพราะมีปัจจัยแทรก จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันติดตาม ซึ่งตรงนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่เรารณรงค์ผ่าน Change.org/stopcoal เพื่อเปิดกว้างให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนไทยทั่วประเทศและร่วมกันติดตาม เพราะเขาหินซ้อนคือแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศ
“กติกาการทำ EHIA ในประเทศไทยไม่เป็นธรรม เพราะยังเปิดโอกาสให้บริษัทเสนอ EHIA มาได้เรื่อยๆ จนกว่าจะผ่าน ทำให้ชาวบ้านต้องเป็นฝ่ายตั้งรับเหนื่อยทุกครั้งเพื่อหาข้อมูลมาคัดค้าน ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะเหมือนกติกานี้มีแค่เสมอกับแพ้ คือถ้ายังไม่ผ่านก็ยังไม่ต้องสร้าง แต่ถ้าผ่านแล้วก็สามารถสร้างได้เลย เพราะไม่มีการระบุเด็ดขาดว่า หากไม่ผ่านการอนุมัติต้องยกเลิกโครงการทันที อีกทั้งขั้นตอนการพิจารณาก็ไม่มีเป็นธรรมเพราะเป็นการตัดสินอนาคตของชุมชนไปอยู่กับการตัดสินใจของคนนอกพื้นที่โดยไม่มีตัวแทนชุมชนเลย ดังนั้นต้องมีแก้ไขกฎเกณฑ์เหล่านี้ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น
นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย เลขาธิการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAW) กล่าวว่า ระบบการพิจารณา EHIA ถือว่ามีปัญหา เพราะคณะกรรมการชำนาญการพิจารณา (คชก.) ไม่ฟันธงว่าสมควรสร้่างหรือไม่ ซึ่งหากเป็นแบบนี้บริษัทที่ทำโครงการก็สามารถเสนอ EHIA กี่รอบก็ได้จนกว่าโครงการจะผ่าน ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น แต่ควรฟันธงให้ยกเลิกโครงการไปเลย
“คชก.ควรฟันธงไปเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่คชก.ทำได้ ถ่้าพิจารณาโดยเหตุผลแล้วว่าโครงการดังกล่าวไม่เหมาะกับพื้นที่เพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ คชก.ทำได้ เพราะก่อนหน้านี้ คชก.เคยทำมาแล้ว กรณีการขุดเหมืองแร่ ที่สมุย ที่คชก. สั่งยกเลิกเพราะเห็นว่าโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำลายทัศนียภาพ ความเป็นอยู่ของชุมชน ทำให้บริษัทไปฟ้องศาลปกครอง และศาลปกครองสุงสุด ก็มีความว่าเป็นอำนาจที่ คชก. ทำได้ เพราะโครงการดังกล่าวไม่เหมาะสมกับพื้นที่จริงๆ เพราะฉะนั้น คชก.ต้องฟันธงให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านต้องเหนื่อยแบบที่เป็นอยู่ที่ต้องหวาดผวากับ EHIA ตลอด”
เรื่องกฎเกณฑ์ EHIA ที่่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ต้องมีการแก้ไข เพราะเป็นปัญหาในหลายพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่มีโครงการอยู่ในหลายพื้นที่ในภาคใต้ ดังนั้น ต้องมีการปรับปรุงพรบ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม2535 เพื่อแก้ไขกฎเกณฑ์การพิจารณา EIA/EHIA เพราะเป็นกระบวนการที่ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังไม่มีหลักประกันว่าการอนุมัติ EIA/EHIA จะสามารถคุ้มครองสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง