“ศิธา” ดันรันเวย์สำรองสุวรรณภูมิ เตรียมล็อบบี้ ก.คมนาคม-ก.ทรัพย์ฯ ไฟเขียว ยกบทเรียนเหตุทีจีไถลขวางรันเวย์ทำเที่ยวบินดีเลย์เพียบ เตรียมจ้างที่ปรึกษาออกแบบ 70 ล้านก่อสร้างเสร็จใน 2 ปี ตีกลับแผนจัดซื้อรถเอกซเรย์วัตถุระเบิดสนามบินหาดใหญ่ เหตุแพง การตรวจสอบไม่ชัดเจน ปรับซื้อเครื่องมือตรวจวัตถุแบบมาตรฐานปกติแทน ชี้ประหยัดกว่า ขณะนี้โยกย้ายระดับ 10, 11 จัดทัพรับโครงสร้างใหม่
น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ทอท.เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) สำรองของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ความยาว 2,900 เมตร โดยจะเร่งให้สรุปแผนรายละเอียดการลงทุน โดยเบื้องต้นจะต้องมีการว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบโครงการ วงเงินประมาณ 70 ล้านบาท จะใช้เวลาในการออกแบบ 8 เดือน โดยจะทำการออกแบบรวมไปถึงรันเวย์ที่ 3 ด้วย ในขณะที่ได้เสนอเรื่องรันเวย์สำรองไปยังกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อขอให้เร่งรัดการพิจารณาแล้ว เนื่องจากหลักการก่อสร้างรันเวย์สำรองมีเป้าหมายเพื่อใช้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและลดภาระของรันเวย์หลัก 2 เส้น ในกรณีที่มีการซ่อมแซมหรือเกิดเหตุมีสิ่งกีดขวางรันเวย์ทำให้เครื่องบินขึ้นลงไม่ได้เพื่อไม่ให้ดีเลย์เหมือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รันเวย์สำรองจะมีความยาวไม่เกิน 2,900 เมตร ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) เนื่องจากเป็นการทำรันเวย์ที่มีความยาวไม่เกิน 3,000 เมตรในสนามบินที่เคยศึกษา EIA และ HEIA ไว้แล้ว ส่วนรันเวย์ที่ 3 ตามแผนจะมีความยาว 4,000 เมตร ซึ่งจะต่อความยาวจากรันเวย์สำรองออกไปหลังจากที่ขั้นตอนการศึกษา EIA และ HIA ได้รับอนุมัติแล้ว
“ทอท.จะรายงานถึงปัญหาการเกิดเหตุเครื่องบินการบินไทยไถลออกนอกรันเวย์ให้ทั้งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงทรัพย์ฯ ได้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีรันเวย์สำรองเพื่อแก้ไขในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินตามมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินทั่วโลก ซึ่งรันเวย์สำรองจะออกแบบประมาณ 8 -12 เดือน ก่อสร้าง 1 ปีครึ่ง เนื่องจากมีการปรับปรุงคุณภาพดินไว้แล้ว” น.ต.ศิธากล่าว
สำหรับแผนก่อสร้างรันเวย์ 3 ที่กำหนดไว้เดิมจะใช้งบลงทุนประมาณหมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างประมาณ 3-4 พันล้านบาท วงเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบทางเสียงเพิ่มเติมประมาณ 9,659 หลังคาเรือน วงเงินราว 7.9 พันล้านบาท โดยจะอยู่ห่างจากรันเวย์ 2 ประมาณ 400 เมตรตามข้อจำกัดของพื้นที่ ขณะที่รันเวย์ 1 และรันเวย์ 2 มีระยะห่างประมาณ 2,200 เมตร ทำให้รันเวย์ที่ 3 ซึ่งจะเปิดใช้เป็นรันเวย์สำรองความยาว 2,900 เมตรก่อนรองรับเที่ยวบินได้ 10 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเท่านั้น
ตีกลับซื้อรถเอกซเรย์วัตถุระเบิดสนามบินหาดใหญ่ เหตุราคาสูงไม่คุ้มค่า
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกการจัดซื้อรถเอกซเรย์สำหรับตรวจอาวุธที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ หลังจากพิจารณาข้อเสนอของหลายบริษัทแล้วเห็นว่าเทคโนโลยีที่นำเสนอยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการตรวจสอบจะมีความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร ในขณะที่การใช้อุปกรณ์แบบ Manual ตรวจวัตถุระเบิดใต้ท้องรถซึ่งจะใช้ควบคู่กับเครื่องตรวจจับโลหะชนิดพกพา (Handheld metal detector) มีความแม่นยำ 99% และใช้งบประมาณจัดหาเพียงชุดละ 2 ล้านบาท ขณะที่รถเอกซเรย์จำนวน 2 คันมีวงเงินกว่า 100 ล้านบาท โดยให้ ทอท.สรุปจำนวนเครื่องมือ แบบ Manual ว่าจะมีกี่ชุด รวมถึงกำลังคนที่เหมาะสมกับงานโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะจัดซื้อได้ภายใน 3 เดือน โดยระหว่างนี้จะประสานกับกองบินที่ 56 กองทัพอากาศขอใช้เครื่องมือจากกองทัพอากาศมาตรวจสอบที่ท่าอากาศยานไปก่อน
โยกย้ายระดับ 10, 11 จัดทัพรับโครงสร้างใหม่
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานระดับ 11 ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับตำแหน่งพนักงานเสนอเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรที่ปรับใหม่ โดยมีการจัดตั้งส่วนงานใหม่เพื่อรองรับการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2 ตำแหน่ง คือ น.ส.ศศิศุภา สุคนธทรัพย์ โยกย้ายจากรองกรรมการผู้อำนวยใหญ่ (สายงานทรัพยากรบุคคลและอำนวยการ) เป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานยุทธศาสตร์) ระดับ 11, นายมนตรี มงคลดาว จากผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานอำนวยการ ระดับ 10 เป็นรองกรรมการผู้อำนวยใหญ่ (สายงานทรัพยากรบุคคลและอำนวยการ)
และแต่งตั้งนางพูลศิริ วิโรจนาภา จากผู้เชี่ยวชาญ 10 เป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานบัญชีและการเงิน) ระดับ 11, น.ส.วิไลวรรณ นัดวิไล จากที่ปรึกษา 11 เป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด), นายประวิทย์ ฉายสุวรรณ จากผู้อำนวยการสำนักงานโครงการ เป็นที่ปรึกษา 10 ทอท. รักษา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศกรรมและการก่อสร้าง), ว่าที่ ร.ท.ภาสกร สุระพิพิธ จากที่ปรึกษา 11 เป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานมาตรฐาน ท่าอากาศยานและการบิน), นายเชาวลิต ภคอริยะ จากรองฯ สายวิศวกรรมและก่อสร้าง เป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานท่าอากาศยานภูมิภาค) แทนนายสมชัย สวัสดีผล ที่ถูกโยกไปเป็นที่ปรึกษา 11
ส่วนว่าที่ ร.ท.จตุรงคพล สดมณี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ขึ้นจากระดับ10 เป็นระดับ 11, นายประเทือง ศรขำ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ขึ้นจากระดับ10 เป็นระดับ 11, น.อ.นรนิต์ ผลกานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานหาดใหญ่ ขึ้นจากระดับ 9 เป็นระดับ 10 และนายดำรง คล่องอักขระ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ขึ้นจากระดับ 9 เป็นระดับ 10 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป