ยูโรสแตท รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนเดือน ก.ค.ลดลง 1.5% จากเดือนก่อน และหดตัวลง 2.1% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว แสดงว่าการฟื้นตัวยังไม่แน่นอน โดยผลผลิตของเยอรมนีลดลง 2.3% และผลผลิตของอิตาลีได้ลดลง 1.1% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% ทำให้เกิดความกังวลถึงความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากภาวะถดถอยในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
ก.แรงงานสหรัฐ รายงานว่า มีจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) 292,000 ราย ลดลง 31,000 รายจากสัปดาห์ก่อน โดยป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2549 และดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 330,000 ราย บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานและเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สหรัฐเริ่มส่งอาวุธให้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียแล้วในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากเคยได้ให้คำมั่นไว้ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มบทบาทครั้งใหญ่ของสหรัฐต่อวิกฤติในซีเรีย
รัฐบาลจีนตั้งเป้าว่าจะลดการใช้ถ่านหินให้ต่ำกว่า 65% ของการใช้พลังงานหลักทั้งหมดภายในปี 2560 เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ โดยปัจจุบันจีนใช้ถ่านหินประมาณ 70% ของการใช้พลังงานทั้งหมด
ธนาคารกลางเกาหลีใต้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% และให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยลบต่างๆ ได้แก่ การลดขนาด QE ของ FED ความไม่มีเสถียรภาพด้านการเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่บางแห่ง เช่น อินเดียและอินโดนีเซีย และความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศในตะวันออกกลาง
ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 7 เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืนไว้ที่ 3.5% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษที่ 2% ทั้งนี้ เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัวสูงกว่า 7% มา 4 ไตรมาสติดต่อกัน และยังมีช่องว่างให้รัฐบาลสามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายได้ แสดงว่าเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก
ธนาคารกลางอินโดนีเซียขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอ้างอิงขึ้น 0.25% สู่ 7.25%ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะหนุนค่าเงินรูเปียห์และสกัดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับตลาด เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มชะลอตัวลง
ธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 4% และยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปีโดยยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยเฉพาะแผนการลงทุนของรัฐบาล ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ 4.5% ซึ่งจะมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวและการลงทุนจากภาครัฐ ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องเร่งลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก่อนไทยจะถูกลดระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอาจลดได้เล็กน้อยจากปัจจุบัน 2.5% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอกับอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยที่ 2.47% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะเริ่มกลับเป็นขาขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีหน้าตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่จะปรับตัวดีขึ้น และอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศที่กำลังปรับตัวเป็นขาขึ้นเช่นกัน
บีโอไอ รายงานผลการสำรวจว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังให้น้ำหนักการลงทุนในไทยในช่วงปี 2556-2557 โดยนักลงทุน 63% จะรักษาระดับการลงทุน นักลงทุนประมาณ 34% มีแผนจะขยายการลงทุน และไม่มีนักลงทุนที่มีแผนจะถอนการลงทุน ทั้งนี้ นักลงทุนมองว่าประเทศไทยมีปัจจัยที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ โดยเป็นรองเพียงสิงคโปร์
SET Index ปิดที่ 1,397.90 จุด ลดลง 13.28 จุด หรือ -0.94% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 42,874 ล้านบาท โดยดัชนีได้ปรับตัวลดลงมากในช่วงบ่ายจากแรงขายทำกำไรแม้จะมีการปรับตัวขึ้นมาตลอดสัปดาห์ ซึ่งเป็นในทิศทางคล้ายคลึงกับตลาดภูมิภาคเอเชียที่เริ่มชะลอตัวหลังการปรับขึ้นในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
สรุปยอดสุทธิการซื้อขายของแต่ละกลุ่ม
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง โดยเปลี่ยนแปลงในช่วง -0.03% ถึง 0.00% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรธปท.อายุ 14 วัน มูลค่า 30,000 ล้านบาท